posttoday

KBANKดันGreen Loanหนุนลูกค้าSMEจูงใจลงทุนพลังงานทดแทน

31 มกราคม 2567

KBANK ดัน Green Loan หนุน SME ตั้งเป้าวงเงินกว่า 3 พันล้านบาท จูงใจลงทุนพลังงานทดแทน เน้นกลุ่ม Bio Circular Green Economy คู่ด้านสุขภาพ สู่เป้าหมายสินเชื่อโต 1-2%

นายรุ่งเรือง สุขเกิดกิจพิบูลย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยถึงภาพรวมการให้สินเชื่อสำหรับกลุ่มลูกค้า SME ของธนาคารในปัจจุบันว่า ธนาคารมีนโยบายสนับสนุน SME อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่ม Bio-Circular-Green Economy (BCG), Healthy & Wellness หรืออยู่ในอุตสาหกรรมที่เติบโตหรือฟื้นตัว เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว, การส่งออก โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายสอดคล้องกับความต้องการและหลักประกันของลูกค้า 

สำหรับเป้าหมายและทิศทางการเติบโตสำหรับสินเชื่อกลุ่ม SME ของธนาคารนั้น นายรุ่งเรืองเปิดเผยในปีนี้มีเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ประมาณ 1-2% ภายใต้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ  ทั้งนี้จะเน้นกลยุทธ์หลัก คือ การขยายพอร์ตผลิตภัณฑ์สินเชื่ออย่างมีคุณภาพ เสนอผลิตภัณฑ์แก่กลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ รวมทั้งการดำเนินการเชิงรุกในการรักษากลุ่มลูกค้าปัจจุบันที่มีสินเชื่อกับธนาคาร

ในส่วนทิศทางการเติบโตธนาคารนายรุ่งเรืองเน้นย้ำว่า KBANK ต้องการขยายสินเชื่อใหม่ ทั้งในลูกค้าใหม่ที่ยังไม่เคยมีสินเชื่อกับธนาคาร และลูกค้าปัจจุบันที่ต้องการสินเชื่อเพิ่มเพื่อใช้ขยายหรือหมุนเวียนในธุรกิจ ซึ่งในการปล่อยสินเชื่อใหม่ธนาคารจะพิจารณาด้านการจัดการความเสี่ยงควบคู่ไปด้วย เช่น มีการเรียกหลักประกันที่เหมาะสมกับความเสี่ยงลูกค้า เป็นการรักษาสมดุลในการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ โดยพิจารณาควบคู่ระหว่างความสามารถในการแข่งขัน และการจัดการความเสี่ยง 

"KBANK เป็นผู้นำในการปล่อยสินเชื่อกลุ่มลูกค้า SME โดยมี Market Share เป็นอันดับ 1 ประมาณ 22% ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมาธนาคารยังคงเติบโตสอดคล้องกับตลาด โดยธนาคารเน้นการปล่อยสินเชื่อแบบมีหลักประกัน"

นายรุ่งเรืองยังกล่าวถึงแนวทางสนับสนุนให้ลูกค้า SME เติบโตอย่างมีศักยภาพและต่อยอดการขยายธุรกิจไปต่างประเทศว่า ธนาคารนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Loan) โดยมีเป้าหมายปล่อยสินเชื่อ Green ในปีนี้ให้กับลูกค้า SME วงเงินรวมมากกว่า 3,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการลงทุนด้านการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานทดแทน 

เช่นเดียวกับที่มีการเตรียมความพร้อม เพื่อช่วยให้ลูกค้า SME รับมือกับมาตรฐานหรือกระแสการเปลี่ยนแปลงในการทำธุรกิจต่าง ๆ เช่น การประกอบธุรกิจโดยคำนึงด้านสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนด้าน ESG และ Climate Change

นอกจากนี้ธนาคารยังจัดการอบรมสัมมนาให้ความรู้และให้คำแนะนำปรึกษา ในเรื่องการปรับตัวไปสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ เพื่อสร้างมาตรฐานระดับสากลและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจของผู้ประกอบการไทย โดยธนาคารได้มีความร่วมมือกับผู้เชียวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก ผู้เชี่ยวชาญหรือหน่วยงานด้านการอนุรักษ์พลังงาน

อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางรับมือต่อปัญหาหนี้เสียของสินเชื่อ SME นั้นนายรุ่งเรืองกล่าวว่า ธนาคารได้ดำเนินการทั้งกระบวนการสินเชื่อ โดยเริ่มตั้งแต่ การคัดเลือกลูกค้าที่มีประสิทธิภาพ การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการและลักษณะธุรกิจของลูกค้าเพื่อให้การใช้สินเชื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์การกู้ของลูกค้า การสังเกตการใช้วงเงินสินเชื่อรวมถึง Early Warning Sign ต่าง ๆ เพื่อแจ้งเตือนลูกค้าและแก้ไขปัญหาก่อน และกระบวนการติดตามหนี้ที่มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลและช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด ผ่านมาตรการช่วยเหลือ เช่น การลดยอดผ่อนชำระ อีกทั้งยังมุ่งเน้นการดำเนินการที่สอดคล้องกับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) เพื่อช่วยลูกค้าที่มีศักยภาพให้สามารถก้าวผ่านสถานการณ์ที่มีความผันผวนโดยไม่สะดุด ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดหนี้เสียได้

ส่วนความเห็นต่อพัฒนาการของกลุ่มผู้ประกอบการ SME ไทยในปัจจุบันนั้น นายรุ่งเรืองมองยังมีจุดที่ต้องพัฒนาในบางแง่มุม เริ่มจากการจัดการสภาพคล่องในการทำธุรกิจ ผู้ประกอบการควรคำนึงการบริหารจัดการเจ้าหนี้การค้า (Accounts Payable), ลูกหนี้การค้า (Account Receivable) และ สินค้าคงคลัง (Inventory) โดยต้องระมัดระวังตรวจสอบระยะเวลาเรียกเก็บหนี้และวันคงค้างชำระ รวมถึงระยะเก็บรักษาสินค้าคงคลังต่างๆ เพื่อป้องกันปัญหาหนี้เสียหรือปัญหาสินค้าคงค้างมากเกินไป รวมถึงการต่อรองเจ้าหนี้การค้าเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ

อีกทั้งควรมีการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในส่วนต้นทุนการผลิต โดยผู้ประกอบการ SME จะได้รับผลกระทบจากค่าแรงที่สูงขึ้น ซึ่งควรพิจารณาการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มเติม เช่น ระบบอัตโนมัติ (Automation), ปัญญาประดิษฐ์ (AI), การจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ Efficiency / Renewable Energy ต่าง ๆ

"ด้านต้นทุนการเงินเอง ก็ควรหาแหล่งเงินทุนในระบบ เนื่องจากปัจจุบันเข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่ยาก มีความเป็นธรรม และอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้นอกระบบมาก"

รวมถึงยังควรมีการปรับตัวตามแนวทางดำเนินธุรกิจตามมาตรฐานใหม่ ๆ ที่ต้องคำนึงการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ESG และ Climate Change โดยผู้ประกอบการจะได้รับแรงกดดันมากขึ้นจากมาตรฐานด้าน ESG ต่าง ๆ เช่น มาตรการ CBAM  การดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำจากความต้องการของคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ ผู้ประกอบการไทยทั้งในส่วนของภาคผลิตและภาคบริการจึงจำเป็นต้องมีการตื่นตัวและให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG และ climate change ทั้งนี้ SME ไทยในปัจจุบันยังไม่ได้มีการดำเนินการปรับตัวในเรื่องนี้ในวงกว้างและมากเพียงพอ
"นอกจากการบริหารต้นทุนการผลิตและการดำเนินงานต่าง ๆ แล้ว ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับต้นทุนด้านพลังงานที่มีความผันผวนและเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ด้วยการลงทุนด้านการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันระยะยาว"