posttoday

ละเอียดยิบ งบหนุนสตาร์ทอัพในประเทศไทย ซ้ำซ้อนหรือไม่

04 มกราคม 2567

ดีป้า ชี้แจงความต่าง 4 หน่วยงาน ดีป้า- TED Fund-เอ็นไอเอ-บีโอไอ ใช้งบสนับสนุนสตาร์ทอัพแตกต่างกัน ไม่ซับซ้อน ย้ำทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวชี้แจงถึงบทบาทในการส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (สตาร์ทอัพ) ในประเทศไทย ว่า การตั้งคำถามของพรรคฝ่ายค้านเกี่ยวกับงบประมาณปี 2567 และบทบาทของดีป้า ,กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดย กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีความซ้ำซ้อนกันนั้น ไม่เป็นความจริง 

สำหรับดีป้า มีพันธกิจสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนั้น ดีป้า จึงส่งเสริมและพัฒนาสตาร์ทอัพกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นหลัก เพื่อให้ ดิจิทัล สตาร์ทอัพ ที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัล ในภาคส่วนต่างๆ ของประเทศ ทั้ง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เช่น ฐานข้อมูลด้านต่างๆ การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านของ SMEs เข้าสู่ยุคดิจิทัล ด้วยการสนับสนุนผ่านมิติต่างๆ ดังนี้

มิติด้านการเงิน เน้นการเพิ่มโอกาสในการได้รับการลงทุนของ ดิจิทัล สตาร์ทอัพ ในระยะเริ่มต้น (Seed Stage) และระยะการเติบโต (Growth stage) ที่ผู้ประกอบการต้องการเงินทุนเพื่อขยายธุรกิจ โดยมีลักษณะให้ทุนในลักษณะ Government Angel 

มิติด้านการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ดีป้า เน้นพัฒนาดิจิทัล สตาร์ทอัพ ให้มีความสามารถในการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ด้วยการดำเนินโครงการเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญ (Mentors) และเครือข่ายในการส่งเสริม สตาร์ทอัพ

มิติการพัฒนาตลาดสำหรับ ดิจิทัล สตาร์ทอัพ เน้นการพัฒนาเพื่อให้สามารถขึ้นทะเบียนบัญชีบริการดิจิทัลในการให้บริการกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน 

ละเอียดยิบ งบหนุนสตาร์ทอัพในประเทศไทย ซ้ำซ้อนหรือไม่

ส่วนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนสตาร์ทอัพ ผ่าน กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ นั้น 

อว. ได้ดำเนินโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีการพัฒนานวัตกรรมหรือพัฒนาศักยภาพร่วมกันกับสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัย ให้สามารถเริ่มต้นดำเนินธุรกิจบนฐานขององค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) โดยเป็นทุนให้เปล่าแบบ Matching grant โดยเป็นทุนสนับสนุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ หรือกระบวนการผลิตและกระบวนการให้บริการใหม่ ให้สามารถพัฒนาต่อยอดธุรกิจจากงานวิจัย 

ขณะที่ เอ็นไอเอ มีบทบาทในการพัฒนาผู้ประกอบการและระบบนิเวศการพัฒนา สตาร์ทอัพ ของประเทศ โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจที่เริ่มต้นใหม่ โดยมีการดำเนินงานสำคัญได้แก่ 

-    การส่งเสริมการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับธุรกิจ สตาร์ทอัพ ในการดำเนินการจัดงาน Startup Thailand การจัดทำ Startup Thailand Magazine การจัดทำเว็บไซต์ Startup Thailand รวมถึงการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจการประกอบธุรกิจในรูปแบบ สตาร์ทอัพ

-    การดำเนินโครงการพัฒนาและส่งเสริมการเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพให้แก่นักศึกษาผ่านโครงการ Startup Thailand League ร่วมกับมหาวิทยาลัย 35 แห่งทั่วประเทศ

-    การส่งเสริมการต่อยอดให้เกิดธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐาน การส่งเสริมให้เกิดการใช้ผลประโยชน์จากงานวิจัยมาต่อยอดไปสู่การพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ และเร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพ ผ่านการให้องค์ความรู้ และการให้เงินทุนสนับสนุน โดยเฉพาะผ่านโครงการ Open Innovation และ Innovation Coupon โครงการคูปองนวัตกรรม ซึ่งสนับสนุนเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และสตาร์ทอัพ โดยเน้นไปที่สตาร์ทอัพที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐานสำคัญ เช่น สตาร์ทอัพสาขาการแพทย์ สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ สาขาเกษตรและอาหาร เป็นต้น

-    การจัดทำโครงการ Accelerator program สำหรับสตาร์ทอัพ ในสาขาต่างๆ เช่น เกษตรและอาหาร

ละเอียดยิบ งบหนุนสตาร์ทอัพในประเทศไทย ซ้ำซ้อนหรือไม่

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีการสนับสนุน สตาร์ทอัพ ในลักษณะ Matching grant สำหรับเงินเดือนของบุคลากรของ สตาร์ทอัพ ในระดับ Series A ขึ้นไป ที่เคยได้รับเงินลงทุนจาก Venture Capital แล้ว เพื่อให้ สตาร์ทอัพ สามารถขยายตลาดออกสู่ตลาดต่างประเทศ