'เจลลี่พุดดิ้งโปรตีนสูง' ตอบโจทย์สูงวัยมีปัญหาการเคี้ยว-กลืน
นักวิจัยไทยสร้างชื่อ! คว้ารางวัลระดับนานาชาติจากงานวิจัย 'เจลลี่พุดดิ้งโปรตีนสูง' ด้วยการใช้เทคโนโลยีดัดแปลงเนื้อสัมผัส ตอบโจทย์สูงวัยที่มีปัญหาการเคี้ยว-กลืน
“เจลลี่พุดดิ้งโปรตีนสูงดัดแปลงเนื้อสัมผัสสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเคี้ยวกลืนลำบาก” ผลงานของ ผศ.ดร.วรัญญา เตชะสุขถาวร ภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ และคณะ ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง (Bronze Medal) จากงาน “The 50th International Exhibition of Inventions Geneva” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 9-13 เมษายน 2568 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และได้รับรางวัลพิเศษ Prize of Malaysia delegation from Malaysia Delegation จากประเทศมาเลเซีย นับเป็นอีกหนึ่งผลงานนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคมสูงวัยและตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุที่มักประสบปัญหาการบริโภคอาหารได้น้อยและเคี้ยวกลืนลำบาก
สำหรับที่มาของการพัฒนานวัตกรรมนี้นั้น ผศ.ดร.วรัญญา กล่าวว่า ในสังคมผู้สูงวัย ผู้สูงอายุมักประสบปัญหาในการเคี้ยวกลืนอาหาร ทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ส่งผลให้กล้ามเนื้อลดลง
จากการทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องในเรื่องอาหารสำหรับผู้มีภาวะกลืนลำบากโดยได้พัฒนา “46 เมนูอาหารฝึกกลืนตามมาตรฐานสากล IDDSI” ทำให้มีเสียงเรียกร้องให้พัฒนาอาหารสำเร็จรูปในรูปแบบของว่างที่ครบครันสารอาหารสำหรับผู้สูงอายุ มีความปลอดภัยในการกลืน จึงเป็นที่มาของ “เจลลี่พุดดิ้งโปรตีนสูงดัดแปลงเนื้อสัมผัสสำหรับผู้สูงอายุ” ซึ่งเป็นอาหารเสริมระหว่างวันของผู้สูงอายุ โดยเป็นความร่วมมือกับบริษัท บ้านโป่ง โนวิเทท จำกัด
- จุดต่างจากเจลลี่พุดดิ้งทั่วไป เน้นการเสริมสร้างโปรตีน และเหมาะกับผู้บริโภคหลายกลุ่ม
“งานวิจัยพัฒนาสูตรเจลลี่พุดดิ้งโปรตีนสูงใช้เวลานานกว่า 1 ปี ผ่านกระบวนการต่าง ๆ ในห้องปฏิบัติการ มีการวิจัยทดลองดัดแปลงเนื้อสัมผัสและเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ ปรับสัดส่วนของวัตถุดิบ รสชาติ การตรวจสอบเนื้อสัมผัส ประเมินการยอมรับของผลิตภัณฑ์ในอาสาสมัครที่เป็นผู้สูงอายุ 30 คน จนถึงการปรับใช้เทคโนโลยีของการผลิตที่ตอบโจทย์ผลิตภัณฑ์ให้ดีที่สุด” ผศ.ดร.วรัญญากล่าว
สำหรับลักษณะพิเศษของเจลลี่พุดดิ้งโปรตีนสูงมีความแตกต่างจากเจลลี่พุดดิ้งทั่วไปที่จำหน่ายในท้องตลาดที่เนื้อสัมผัสที่พร้อมรับประทาน มีความคงตัวอยู่บนช้อนได้ และสามารถเป็นเนื้อพุดดิ้งที่อ่อนนุ่มเมื่อใช้ช้อนบดเพียงเล็กน้อย ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถบดเคี้ยวอาหารได้แม้จะไม่มีฟันก็ตาม
ในเจลลี่พุดดิ้งยังมีการผสมเวย์โปรตีนไอโซเลตชนิดพิเศษสูงถึง 7 กรัมต่อถ้วย โดยไม่ทำให้เนื้อสัมผัสแข็งกระด้าง ไม่มีรสขม มีการผสมแป้งมันสำปะหลังชนิดดัดแปลงโมเลกุลกลูโคสโพลิเมอร์ให้มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ รวมทั้งมีการปรับเนื้อสัมผัสด้วยส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างคาราจีแนนและสารก่อให้เกิดเจลอื่นๆ
ทั้งนี้ ยังมีการใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง สามารถเก็บผลิตภัณฑ์ได้ในอุณหภูมิปกตินานถึง 6 เดือนโดยคุณภาพและเนื้อสัมผัสของเจลลี่พุดดิ้งยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันได้พัฒนาเจลลี่พุดดิ้งเป็นสองรสชาติคือรสกล้วย และรสสตรอว์เบอร์รี่
สำหรับเจลลี่พุดดิ้ง 1 ถ้วยมีคุณค่าทางอาหารให้พลังงาน 70 – 80 แคลอรี่ และให้โปรตีนคุณภาพที่ย่อยง่าย 7 – 8 กรัมซึ่งเทียบได้กับไข่ไก่ 1 ฟอง ถือเป็นของว่างเพื่อสุขภาพ นอกจากผู้สูงอายุแล้ว ยังเหมาะสำหรับผู้บริโภคหลายกลุ่ม เช่น ผู้ที่เพิ่งถอนฟันหรือผ่าฟันคุดซึ่งประสบปัญหาในการบดเคี้ยวอาหาร เด็กวัยรุ่นที่ต้องการอาหารที่เพิ่มโปรตีน ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องการโปรตีนสูง รวมถึงผู้ที่ออกกำลังกายที่ต้องการเสริมกล้ามเนื้อ เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ผ่านการวิเคราะห์ขั้นสูง ภายใต้ความร่วมมือจาก ดร.ชัยวุฒิ กมลพิลาส ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินการทดสอบเนื้อสัมผัสและความลื่นของอาหาร (oral tribology) เนื้อสัมผัสของเจลลี่
- อนาคตของงานวิจัยและผลิตภัณฑ์
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์นี้อยู่ในระหว่างดำเนินการขอจดสิทธิบัตร สำหรับแผนงานในอนาคต ผศ.ดร.วรัญญาเผยว่า จะขึ้นทะเบียนให้เป็นอาหารวัตถุประสงค์พิเศษ ในรูปแบบอาหารทางการแพทย์ โดยได้รับความร่วมมือจากทีมวิจัย (ผศ.พญ.ภัทรา วัฒนพันธุ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น) ในการศึกษาวิจัยในมนุษย์ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์เจลลี่พุดดิ้งโปรตีนสูงกับการเพิ่มขึ้นของมวลกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุ และกำลังขยายความร่วมมือกับทีมวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นในการผลิตเจลลี่พุดดิ้ง ออกจำหน่ายจริง
ผศ.ดร.วรัญญายังคงมีงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้มีภาวะกลืนลำบากอีกหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบ ขนมไทยสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชั่นที่มีการเพิ่มสารอาหารอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ เช่น ไฟเบอร์หรือใยอาหารที่ช่วยในการขับถ่าย ฯลฯ