ทำอย่างไรห่างไกล 'โรคไต' หลังพบผู้ป่วยไทยพุ่งกว่า 1.12 ล้านคน!
ทำอย่างไรห่างไกล 'โรคไต' รวบทุกเรื่องเนื่องในวันไตโลก พบสถิติผู้ป่วยในไทยเพิ่มขึ้นทุกปีมากถึง 1.12 ล้านคน ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจกว่า 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี
สถานการณ์ผู้ป่วโรคไตในประเทศไทย ข้อมูลจาก ระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้นทุกปีมากถึง 1.12 ล้านคน ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจกว่า 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี และจากการคัดกรองโรคไตเรื้องรังในผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง พบว่ามีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรายใหม่พุ่งถึง 8 แสนคน
โรคไตเรื้อรัง คืออะไร?
กรมควบคุมโรค ได้ให้ข้อมูลว่า โรคไตเรื้อรัง คือ สภาวะที่ไตถูกทำลายนานติดต่อกันเกิน 3 เดือน มักไม่มีอาการชัดเจนในระยะแรกทำให้หลายคนไม่รู้ตัวจนกระทั่งเข้าสู่ภาวะไตวาย ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคไตตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการชะลอ ความเสื่อมของไตและลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน
ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เข้าสู่ภาวะไตเรื้อรังระยะสุดท้าย จนต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตในที่สุด ซึ่งปัจจุบันมี 3 วิธีการ ได้แก่
- การปลูกถ่ายไต
- การล้างไตที่บ้าน (การล้างไตช่องท้อง)
- การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคไตเรื้อรัง โรคไตสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ยังรวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ นิ่วในไต โรคไตอักเสบ
- ปัจจัยทางพันธุกรรม คือคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคไต
- เคยมีประวัติไตวายฉับพลันมาก่อน
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก
- พฤติกรรมบางอย่าง เช่น การใช้ยาแก้ปวดเป็นประจำ การใช้สมุนไพรไม่ถูกวิธี และการสูบบุหรี่ ก็เพิ่มความเสี่ยงทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้นด้วย
วิธีการสังเกตสัญญาณเตือนโรคไตเรื้อรัง
สำหรับผู้สูงอายุและประชาชนให้สังเกตสัญญาณเตือนโรคไตเรื้อรัง ได้แก่
- ปัสสาวะผิดปกติ มีฟองมาก สีเข้ม
- ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
- ซีด
- มีอาการบวมตามร่างกาย เช่น เท้า ข้อเท้า หรือใบหน้า
- ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ยาก
- ปวดหลัง ปวดบั้นเอว
หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไต
การป้องกันและลดความเสี่ยงโรคไต
- หมั่นคัดกรองโรคไตเพื่อไม่ให้อาการลุกลามไปสู่การเจ็บป่วยที่หนักขึ้นและรักษาไม่หาย
- รักษาระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ลดอาหารเค็ม อาหารหมักดอง
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวด หรือยาสมุนไพรที่ไม่ทราบสรรพคุณ
- งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ข้อมูล
กรมควบคุมโรค
งานโรคไต กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี