พาส่อง 7 ซีรีส์-ภาพยนตร์เกาหลีใต้ สะท้อนการเปิดกว้าง LGBTQIA+ ได้หรือยัง?
เกาหลีใต้เปิดกว้างเรื่อง LGBTQIA+ ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับไทย แต่แล้วในปี 2024 ก็ได้เห็นแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในรูปแบบของ ซีรีส์และภาพยนตร์ ที่สอดแทรกเนื้อหา LGBTQIA+ เข้าไปและได้รับกระแสตอบรับล้นหลาม ในขณะที่อุตสาหกรรมแค่ซีรีส์วายในไทยเติบโตกว่า 5 พันล้านบาท
ในปี 2024 ที่ผ่านมา ซีรีส์-ภาพยนตร์จากเกาหลีใต้ ในช่องทางเมนสตรีม มีการสอดแทรกในเรื่องของชายรักชาย หญิงรักหญิง หรือตัวละครที่มีความไม่เจาะจงระบุเพศ ในแบบที่เห็นปริมาณมากขึ้นแบบหน้ามือเป็นหลังมือ และนี่คือ 7 เรื่องตัวอย่าง หากใครอยากจะติดตามหรือรับชม เรียกได้ว่าเมื่อเกาหลีใต้กล้าเสนอเรื่อง LGBTQIA+ และความรักของพวกเขามากขึ้นบวกกับคุณภาพของการถ่ายทำและการคิดบท ก็น่าจับตาไม่น้อยว่า ถ้าจะมาด้านนี้เต็มตัว จะดึงส่วนแบ่งคอนเทนต์ LGBTQIA+ ของโลกได้มากน้อยแค่ไหน!
1. Squid Game 2
Squid Game 2 แนะนำตัวละคร โชฮุนจู ผู้เล่นหมายเลข 120 ที่เป็นอดีตจ่าสิบเอกในกองกำลังพิเศษ ซึ่งเป็น ทรานส์เจนเดอร์ ที่เข้าร่วมเล่นในเกมนี้ หลังจากที่ถูกตัดออกจากกองทัพและถูกปิดกั้นจากงานเนื่องจากตัวตนของเธอ โดยมีความฝันว่าอยากจะย้ายมาประเทศไทยเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ เธอสะท้อนภาพของตัวละครที่มีแง่มุมเชิงบวกและมีความเข้มแข็งไปในตัว!
2. The Tale of Lady OK
ซีรีส์ย้อนยุคที่กำลังมาแรงมาก เรื่องราวของหญิงสาวจากชนชั้นทาสที่ชีวิตผกผันจนได้เป็นทนายของยุค เธอต้องมาแต่งงานกับชายที่ไม่สามารถรักผู้หญิงได้และเขาก็ก่อตั้งสมาคมเพื่อช่วยเหลือคนที่แตกต่างอย่างเขาในยุคนั้น ความแตกต่างและถูกกดทับของทั้งสองขับเคลื่อนซีรีส์เรื่องนี้และทำให้ทุกคนต้องเอาใจช่วยเธอ!
3. Jeongnyeon: The Star Is Born
เรื่องราวของหญิงสาวที่มีความฝันอยากจะแสดงในละครเวที เธอต้องเข้าไปอยู่ในคณะละครซึ่งเป็นหญิงล้วน ที่ต้องสามารถแสดงทั้งบทชายและหญิง โดยผู้ชมจะได้กลิ่นของความเป็นแซฟฟิกลอยมาจากตัวละครหลัก ไม่ว่าจะเป็น มุนอ็อกคยอง ซอเฮรัง ยุนจองยอน และฮงจูรัน อย่างชัดเจน แม้ว่าจะไม่มีการระบุว่าพวกเขาเป็นคู่รักเลสเบี้ยนในเรื่องเลยก็ตาม
4. Light Shop
ซีรีส์เรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มคนแปลกหน้าที่ประสบกับช่วงเวลายากลำบากก่อนจะเสียชีวิต ในซีรีส์ดังกล่าวเสนอเรื่องราวของคู่รักอย่าง ปาร์คเฮวอน และยุนซองเฮ คู่รักเลสเบี้ยนที่มีแผนว่าจะใช้ชีวิตร่วมกัน แต่พวกเขากลับถูกรถบัสชนอย่างจัง ซึ่งเรื่องราวของพวกเขาอาจทำให้หลายคนต้องใจสลายได้เลย กับประโยคที่ว่า ‘ฉันอยากจะอยู่ในโลกที่พวกเราสามารถอยู่ร่วมกันได้’
5. Fragile
ในตอนหนึ่งของละครเรื่องนี้ ซึ่งพูดถึงเรื่องราวของวัยรุ่น ที่ต้องเผชิญกับการเติบโต และการก้าวข้ามวัยที่ ‘เปราะบาง’ ซึ่งเรื่องหนึ่งคือเรื่องความรัก และการค้นหาตัวตนของตัวเอง โดยตัวละครหนึ่งคือ คังซัน ที่ได้สารภาพกับเพื่อนสนิทผู้ชายว่าชอบ!
6. Love in The Big City
เรื่องราวที่บอกเล่าเกี่ยวกับรูมเมทสองคน คนหนึ่งเป็นเกย์ อีกคนหนึ่งเป็นผู้หญิง ที่เรียนรู้และยอมรับกันและกัน หลังจากนั้นได้มาที่ประเทศไทย เรื่องนี้ดัดแปลงจากนวนิยายที่ขายดีที่สุดในชื่อเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั่วโลกยกย่องการแสดงที่เหมือนจริงของกลุ่มเกย์ และเป็นไวรัลดังมากๆ
7. Love Next Door
ซีรีย์รอมคอมเรื่องดังที่เพิ่งจบไป มีอยู่ตอนหนึ่งที่ ลีซองจุน สงสัยว่าภรรยานอกใจไปกับบอสของเธอ แต่ปรากฎว่าเป็นแค่เพื่อนเท่านั้น เพราะบอสเป็นเกย์ แม้จะเป็นแค่ส่วนหนึ่งของพล็อตแต่ก็ทำให้เกิดไวรัลในอินเทอร์เน็ตซะเหลือเกิน โดยเฉพาะตอนที่บอสประกาศว่า ‘ฉันเป็นเกย์ และฉันชอบผู้ชาย’
ยังมีอีกหลายเรื่องที่สอดแทรกมุมมองของ LGBTQIA+ ตลอดปี 2024 ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเรื่อง The Trunk , LTNS , Bitter Sweet Hell ฯลฯ ซึ่งทำให้เห็นถึงการเปิดกว้าง และพูดถึงเรื่องความแตกต่างทางเพศในสังคมเกาหลีที่มากขึ้นอีกด้วย
สถานะชาว LGBTQIA+ ในเกาหลีใต้ปัจจุบัน
จะเรียกได้ว่ามีความซับซ้อนอยู่พอสมควร สำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ในเมืองใหญ่ พวกเขาได้รับอิทธิพลจากสื่อต่างชาติและการเปิดกว้างทางวัฒนธรรมมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในชนบทหรือกลุ่มผู้สูงอายุ ยังคงมีทัศนคติที่อนุรักษ์นิยมและไม่ยอมรับจากอิทธิพลทางวัฒนธรรม
นอกจากนี้ยังไม่มีการรับรองการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน หรือสิทธิทางกฎหมายอื่นๆ และไม่มีกฎหมายที่คุ้มครองชาว LGBTQIA+ ในเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ LGBTQIA+ ที่จัดขึ้นเป็นเทศกาลต่างๆ ก็ได้รับการสนใจเพิ่มมากขึ้น แต่ก็มีกลุ่มที่ออกมาประท้วงกับพฤติกรรมดังกล่าว
มูลค่าเศรษฐกิจของคอนเทนต์ LGBTQIA+
Pink Economy หรือเศรษฐกิจจากกลุ่ม LGBTQIA+ ทั่วโลก มีมูลค่ารวมประมาณ 4.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลจากรายงานของ LGBT Capital ปี 2023) ซึ่งรวมถึงการบริโภคสื่อบันเทิง โดยNetflix รายงานว่าซีรีส์และภาพยนตร์ที่มีตัวละคร LGBTQIA+ เป็นหนึ่งในประเภทที่ได้รับความนิยมสูงในบางตลาด เช่น สหรัฐฯ และยุโรป
นอกจากนี้ รายได้ของภาพยนตร์ LGBTQIA+: ภาพยนตร์อย่าง Call Me by Your Name และ Brokeback Mountain ไม่เพียงได้รับการยอมรับทางศิลปะ แต่ยังทำรายได้ทั่วโลกได้เกิน 100 ล้านดอลลาร์
แบรนด์ระดับโลก เช่น Coca-Cola, Adidas, และ Nike สนับสนุนคอนเทนต์ LGBTQIA+ ผ่านการเป็นสปอนเซอร์เทศกาล Pride และการร่วมมือกับครีเอเตอร์ LGBTQIA+ ในการสร้างโฆษณา อย่างเช่น ในปี 2021 การโฆษณา LGBTQIA+ ทำรายได้ประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ ทั่วโลก
สำหรับประเทศไทยเอง มีอุตสาหกรรมซีรีส์วาย (Boys’ Love หรือ BL) ที่เติบโตอย่างมาก โดยในปี 2021 มีมูลค่ากว่า 5 พันล้านบาทและยังดึงดูดผู้ชม LGBTQIA+ ในตลาดจีน ญี่ปุ่น และอเมริกา
ซึ่งก็มองได้ว่าหากเกาหลีใต้เข้ามาเล่นในอุตสาหกรรมซีรีส์วายบ้าง ก็น่าจะเป็นคู่แข่งของไทยได้ไม่ยาก.