posttoday

เจาะ Pharmacy First ของอังกฤษ ต้นแบบ ‘ร้านยาชุมชนอบอุ่น’ สปสช.?

29 พฤศจิกายน 2567

มีหลายกระแสเปรียบเทียบโครงการ Pharmacy First ของอังกฤษ กับร้านยาชุมชนอบอุ่นของ สปสช. ที่กำลังเป็นประเด็นฟ้องร้องกับทางแพทยสภา ซึ่งยังไม่รู้ความแน่ชัดว่าบทสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร โพสต์ทูเดย์ขอพาไปสำรวจโครงการดังกล่าว รวมไปถึงข้อกังวลและความสำเร็จของโครงการ

ช่วงเวลาที่ต้องรอศาลปกครองสูงสุดจะมีคำวินิจฉัยต่อคำสั่งรับคำฟ้องของแพทยสภาต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสภาเภสัชกรรม กรณีการดำเนินการให้บริการ “เจ็บป่วยเล็กน้อย 32 อาการ รับยาที่ร้านยาคุณภาพ” ซึ่งเป็นบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท)

มีกระแสข่าว รวมไปถึงความคิดเห็นในเพจออนไลน์ต่างๆ ระบุถึงความคล้ายคลึงกันของ บริการ ‘ร้านยาชุมชนอบอุ่น’ กับบริการในสหราชอาณาจักร ซึ่งถูกเรียกว่า ‘Pharmacy First’ โพสต์ทูเดย์กางข้อมูลเกี่ยวกับบริการดังกล่าว ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจมานำเสนอ ดังนี้

 

  • Pharmacy First คืออะไร?

Pharmacy First อยู่ในระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (NHS) เริ่มให้บริการ 31 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยใช้งบประมาณสนับสนุนสูงถึง 645 ล้านปอนด์  หรือประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท  มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดภาระงานของแพทย์ทั่วไป (GP) และระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) โดยการอนุญาตให้เภสัชกรในร้านขายยาในพื้นที่ให้คำปรึกษาและจัดการปัญหาสุขภาพซึ่งจำเพาะเจาะจงกับอาการเจ็บป่วย 7 อาการ โดยไม่จำเป็นต้องนัดพบแพทย์ก่อน ซึ่งร้านขายยาที่เข้าร่วมได้รับค่าตอบแทน 4.3 หมื่นบาทต่อเดือน และ 654 บาทต่อคำปรึกษา

 

โดยอาการเจ็บป่วย 7 อาการ  ซึ่งเป็นอาการที่เป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยและมีแนวทางการรักษาที่ชัดเจน ประกอบด้วย

1. โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน ในกลุ่มผู้ป่วยอายุ 1 - 17 ปี

2. โรคเริม ในกลุ่มผู้ป่วยอายุ 1 ปีขึ้นไป

3. แมลงกัดติดต่อย มีอาการติดเชื้อ ในกลุ่มผู้ป่วยอายุ 1 ปีขึ้นไป

4. โรคงูสวัด ในกลุ่มผู้ป่วยอายุ 18 ปีขึ้นไป

5. ไซนัสอักเสบ ในกลุ่มผู้ป่วยอายุ 12 ปีขึ้นไป

6. เจ็บคอ ในกลุ่มผู้ป่วยอายุ 5 ปีขึ้นไป

7. การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะแบบไม่ซับซ้อน ในกลุ่มผู้ป่วยผู้หญิง อายุ 16 - 64 ปี

 

สำหรับโครงการ Pharmacy First ที่เกิดขึ้นในระบบ NHS มีการวางแนวทางทางคลินิกอย่างเข้มงวด ซึ่งถูกกลั่นกรอง และพัฒนา ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายกลุ่ม ตั้งแต่แพทย์ทั่วไป เภสัชกร ผู้เชี่ยวชาญด้านการดื้อยาต้านจุลชีพ รวมไปถึงผู้แทนจากองค์กรระดับชาติ เช่น สถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการดูแล (NICE) และหน่วยงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร  เพื่อให้มั่นใจว่าขั้นตอนการให้บริการต่างๆ เป็นไปตามคุณภาพ มาตรฐานและปลอดภัยในระดับสูงสุดตามแนวทางที่กำหนดตั้งแต่แรก

 

นอกจากการรับยาที่ร้านได้โดยตรง ขั้นตอนที่ถูกกำหนดไว้ในโครงการ Pharmacy First คือ มีการระบุให้ต้องส่งข้อมูลของผู้ป่วยที่ให้บริการไปแล้วกลับไปหาแพทย์ทั่วไปของผู้ป่วยในวันเดียวกันหรือวันทำการถัดไป  และเภสัชกรทุกคนจะต้องได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้ยาและการดูแลอาการเจ็บป่วยทั่วไปเป็นเวลา 5 ปี จึงจะให้คำแนะนำด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรงได้  นอกจากนี้ เภสัชกรยังต้องมีประสบการณ์ในการสังเกตสัญญาณเตือน หรือที่เรียกอีกอย่างว่า อาการที่เป็นสัญญาณอันตราย ซึ่งอาจจำเป็นต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังผู้ให้บริการด้านการแพทย์รายอื่น

 

ในเว็ปไซต์ของ Community Pharmacy England หรือ องค์กรระดับชาติที่เป็นตัวแทนของร้านขายยาชุมชนทั่วอังกฤษ ระบุว่า โครงการ Pharmacy First ประกอบด้วยสามส่วนหลักได้แก่

1. การปรึกษาเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยกับเภสัชกร

2.การจัดหายาเร่งด่วน

สำหรับส่วนที่ 1 และ 2 นั้น การปรึกษาใดๆ ในกรณีการเจ็บป่วยเล็กน้อยของเภสัชกรจะต้องได้รับการอ้างอิงจากแพทย์ทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตเช่น  NHS 111, EDs and UTCs เท่านั้น

3.การให้คำปรึกษาตาม Clinical Pathway ซึ่งครอบคลุม 7 อาการด้านบน

สำหรับส่วนที่ 3 นั้นเภสัชกรจะต้องทำตาม Clinical Pathway ที่กำหนดขึ้นเสมือนโปรโตคอลที่ทาง NHS กำหนด และเป็นผู้พิจารณาว่าเมื่อใดที่ผู้ป่วยสามารถรับการรักษาภายใต้บริการนี้หรือควรได้รับการส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอื่น ๆ หากมีอาการที่ตรงกับ 7 โรคที่กำหนด ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำและยา (ตามความเหมาะสมทางคลินิก) ทั้งหมดที่มีค่าใช้จ่ายจาก NHS

 

  • ข้อกังวลหลังดำเนินโครงการ

จากบทความ A mammoth undertaking’: opening the doors to Pharmacy First ซึ่งลงใน pharmaceutical-journal.com เว็บไซต์และสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีชื่อเสียงในวงการเภสัชศาสตร์ ซึ่งดำเนินงานโดย Royal Pharmaceutical Society (RPS) แห่งสหราชอาณาจักร องค์กรที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1841 และเป็นสมาคมวิชาชีพที่สนับสนุนเภสัชกรและบุคลากรด้านเภสัชกรรม  ได้ลงความคิดเห็นต่อโครงการดังกล่าวไว้ในหลายประเด็น

โดยมองว่าแม้บริการนี้จะถูกยอมรับว่าเป็น ‘ก้าวสำคัญ’ ในการสนับสนุนและเพิ่มการรับรู้ถึงบทบาทของเภสัชกรในระบบสุขภาพ แต่ก็ยังคงมีอุปสรรคและความกังวลที่เกิดขึ้นหลังจากเริ่มโครงการ โดยสรุปคือ

 

อย่างแรก ปัญหาด้านความพร้อมของเภสัชกร โดยพบว่าเภสัชกรในโครงการ Pharmacy First จำนวน 63% ของเภสัชกรยังไม่ได้เริ่มการฝึกอบรมในขณะที่โครงการเปิดตัวแล้ว ซึ่งทำให้ผลสำรวจจาก PDA หรือสมาคมป้องกันเภสัชกร ซึ่งสำรวจความเห็นในกลุ่มเภสัชกรด้วยกันเองมองว่ายังไม่พร้อมที่จะให้บริการ

ไฮทีช พาเทล (Hitesh Patel) หัวหน้าฝ่ายบริหาร Community Pharmacy KCW กล่าวว่า การฝึกอบรมตรวจร่างกายทางคลินิก ซึ่งเริ่มเปิดตัวในเดือนมีนาคม 2023 และเวิร์กชอปที่สนับสนุนการตรวจทางหู คอ และจมูก (ENT) ไม่เพียงพอและเกิดขึ้นเพียง 1 ใน 10 ของความต้องการที่แท้จริง

นอกจากนี้ ในส่วนของเภสัชกรในสมาคม PDA เองมองว่าแม้จะเห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว แต่มีความกังวลในเรื่องของภาระงานที่เพิ่มขึ้นรวมไปถึงความคาดหวังของสาธารณชนที่พุ่งสูงขึ้นด้วย เนื่องจากจำนวนเภสัชกรในประเทศอังกฤษนั้นมีจำนวนลดลง เพราะภาระงานที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวทำให้เภสัชกรต้องใช้เวลาต่อคนค่อนข้างมาก โดยระบุว่าใช้เวลาต่อคนราว 30 นาที

 

อีกปัญหาที่สำคัญ คือ ความเชื่อมั่นระหว่างแพทย์และเภสัชกร โดยโครงการ Pharmacy First ได้สร้างระบบที่เรียกว่า GP Connect เพื่อเชื่อมโยงให้แพทย์และเภสัชกรสามารถติดต่อกันได้ รวมถึงเภสัชกรสามารถเข้าถึงข้อมูลในเวชระเบียนของผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น จากรายงานระบุว่า หากแพทย์เห็นว่าผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ความไว้วางใจจะเพิ่มขึ้น และเกิดการกระตุ้นให้เกิดการส่งต่อในกลุ่มอาการที่ไม่ซับซ้อนอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย แต่ระบบ GP Connect ยังมีความล่าช้าตั้งแต่เริ่มต้นเปิดโครงการ

โดยรายงานฉบับดังกล่าวเน้นย้ำว่า การสร้างความเชื่อมั่นระหว่างเภสัชกรและแพทย์เป็นปัจจัยสำคัญของโครงการ  สะท้อนผ่านตัวเลขการส่งต่อของแพทย์ไปยังร้านขายยาที่เพิ่มสูงขึ้น

 

ซึ่งเมื่อมองภาพรวมของนโยบาย การร่วมมือระหว่างแพทย์และเภสัชกร ความไว้ใจที่จะส่งต่อผู้ป่วยจากแพทย์ไปยังร้านขายยา ล้วนแต่เป็นปัจจัยความสำเร็จจากนโยบายที่มีเจตจำนงที่จะลดความแออัดและลดภาระงานของแพทย์ อย่างที่ตั้งไว้แต่แรกอย่างแท้จริง.

 

 

อ้างอิง

A mammoth undertaking’: opening the doors to Pharmacy First