จะอยู่อย่างไร? ฟังเสียงกลุ่มหญิงรักหญิง 'เดอะแบก' พ่อแม่ และตนเองตอนแก่!
โพสต์ทูเดย์สะท้อนความกังวลของกลุ่มหญิงรักหญิงต่อนโยบาย ‘แก้วิกฤตสังคมผู้สูงอายุ’ ของรัฐ ที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ‘แก่แล้วจะอยู่อย่างไร?’ คาดหากไม่มีโครงสร้างของประเทศที่เอื้อต่อเรื่องเพศ และผู้สูงวัยมากขึ้น อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจจนเพิ่มอัตราฆ่าตัวตาย
‘แก่แล้วจะอยู่อย่างไร’ หรือ ‘แก่แล้วจะใช้เงินเท่าไหร่’ น่าจะเป็นคำถามที่หลายคนถามไถ่ตัวเองอยู่บ่อยๆ และโดยเฉพาะในสังคมไทยทุกวันนี้ที่เต็มไปด้วยวิกฤตประชากร และสังคมผู้สูงอายุ!
บางคนต้องทำงานหนักเพื่อมีเงินไว้ใช้ยามเกษียณ ไม่เพียงพอหากจะมีลูกเพิ่ม
บางคนอยากมีลูกก็ต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้นอีก แต่ด้วยค่านิยมปัจจุบันจะหวังให้ลูกมาเลี้ยงดูก็คงไม่ได้
นั่นหมายความว่าต้องทำงานคูณสอง หรือสามเท่าเพื่อให้เพียงพอต่อลูกและต่อตัวเองในยามชรา
เมื่อหันกลับมาอยากจะพึ่งรัฐ ก็กลับพบว่าไม่เพียงพอที่จะต่อลมหายใจให้พ้นแต่ละเดือน ภาระจึงตกมาอยู่ที่ประชาชนแต่ละคน ว่าจะสามารถวางแผนใช้ชีวิตให้ตลอดรอดฝั่งอย่างไร
แต่สำหรับ ‘กลุ่ม LBT’ หรือกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นกลุ่มหญิงรักหญิง พวกเขากังวลมากกว่านั้น เพราะพวกเธอคือ ‘ผู้แบกภาระรับผิดชอบ’ ทั้งหมดโดยไม่มีใครนึกถึง และนี่คือประเด็นสะท้อนจากชีวิตของพวกเธอ ที่ฉายภาพประโยคที่ว่า ‘แก่แล้วจะอยู่อย่างไร’ ในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี
- คาดหวังให้ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่เพราะไม่ได้มีครอบครัว
ทฤษฎี สว่างยิ่ง ผู้อำนวยการองค์กรสุขภาพและโอกาส เปิดใจกับโพสต์ทูเดย์ว่า จากที่เราได้ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกกับคนในกลุ่ม LBT (กลุ่มบุคคลที่มีอัตลักษณ์เชื่อมโยงกับความเป็นหญิง นิยามว่าตนเองเป็นผู้หญิง บุคคลที่รู้สึกรักผู้หญิง นับรวมกลุ่มที่เป็นหญิงข้ามเพศ ที่รักผู้ที่มีเพศกำเนิดเป็นหญิง ไปจนถึง Trans Lesbian ) พบว่ากลุ่ม LBT ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ต้องดูแลพ่อแม่ เพราะเราไม่มีลูก ไม่มีครอบครัวและเป็นเพศหญิง
‘เราถูกคาดหวังให้ต้องเสียสละ เพราะไม่ได้มีครอบครัวตามแบบพี่น้องชายหญิงทั่วไป พอเราเริ่มอายุ 40 ปี พ่อแม่ก็จะอายุ 60 และเข้าวัยเกษียณแล้ว และเราต้องรับผิดชอบดูแล ซึ่งพบว่าการดูแลผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ใช้ทักษะ และใช้เงิน’
ทฤษฎีแจกแจงให้เราเข้าใจว่า ‘ ถึงแม้ว่าคนทั่วไปจะบอกว่าไม่ได้คาดหวังให้ลูกมาดูแล แต่วินาทีที่เราสูงวัย คนเป็นพ่อแม่ก็ไม่ได้อยากอยู่บ้านพักคนชรา พวกเขาอยากให้ลูกหลานดูแล’
และเมื่อพ่อแม่เสียชีวิตลง ตัวพวกเขาก็จะสูงวัย คำถามคือ ใครจะดูแลหรือใช้เงินที่ไหนดูแล? ในเมื่อเงินหมดไปส่วนหนึ่งกับการดูแลพ่อและแม่แล้ว และถ้าหากเป็นผู้ป่วยติดเตียงก็จะหนักขึ้นไปอีก
‘ แม้ว่าจะมีนโยบาย 30 บาทในการรักษาได้ แต่เมื่อต้องเผชิญกับขั้นตอนการรักษาจริง กลับพบว่ามีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องเตรียมมากกว่านั้น เช่น ค่าแพมเพิร์ส ค่าเดินทาง ก็ล้วนเป็นค่าใช้จ่าย’
‘ เงินสวัสดิการแค่เดือนละ 600 ไม่พอค่าไปโรงพยาบาลหรอก’ เธอกล่าว
โดยเธอยอมรับว่ากลุ่ม LBT ที่เป็นคนรุ่นใหม่จะคิดเรื่องการวางแผนการเงินเอาไว้ แต่ในคนรุ่นก่อนๆ ไม่ค่อยมีการพูดถึงเรื่องวางแผนทางการเงินมาก่อนเลย ซึ่งนี้เป็นปัญหาที่สั่งสมมาในสังคมไทย
- ปมในใจจากโครงสร้างสังคมที่ไม่เอื้อต่อเพศ และสูงวัย กำลังสร้างปัญหาใหญ่หลวง
ทฤษฎีบอกกับเราว่าสิ่งที่สังคมลืมไปอีกหนึ่งเรื่องคือ ‘สภาพจิตใจ’ ของกลุ่มคน LBT โดยเธอเปิดเผยว่าสภาพจิตใจของ LBT เป็นสิ่งที่ถูกละเลย แม้ว่ากฎหมายจะผ่านร่างสมรสเท่าเทียม แต่ที่ผ่านมาพวกเธอก็ต้องเผชิญกับแรงกดทับที่กลายเป็นแผลเป็นยังไม่หาย ในขณะเดียวกันแม้กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะผ่าน แต่โครงสร้างต่างๆ ในประเทศก็ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ควรจะเป็น
‘โครงสร้างของประเทศนี้เริ่มต้นจาก หญิงกับชาย อย่างไปโรงพยาบาลก็จะมีแค่วอร์ดหญิงและชาย โครงสร้างสาธารณูปโภคทั้งหลายไม่ได้รองรับเราเลย รวมไปถึงไม่ได้รองรับกลุ่มผู้สูงอายุเลยด้วยซ้ำ แม้ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าเราจะมีประชากร 1 ใน 3 ของประเทศที่เป็นสูงวัยก็ตาม’
เธอเล่าให้เราฟังว่า เธอไม่อยากไปโรงพยาบาลเลยด้วยซ้ำ
‘ เราพูดกันถึงเรื่องการเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้กับการเข้าถึงระบบสุขภาพ ซึ่งมันก็ยากนะ เวลาที่เราไปโรงพยาบาลจะโดนตั้งคำถามว่า เรามีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ และเพศสัมพันธ์แบบหญิงกับหญิงเขาไม่นับ
เราไม่อยากไปโรงพยาบาล เพราะเราเจอทั้งสายตาและท่าทีและคำถาม ที่อยู่บนพื้นฐานของรักต่างเพศอยู่ เวลาที่ไปตรวจร่างกายก็รู้สึกแย่ เราไม่อยากให้ผู้หญิงเห็น ในขณะเดียวกันเราก็ไม่อยากให้ผู้ชายเห็น เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัยเช่นกัน
เรามองว่าระบบสุขภาพยังไม่ใส่ใจในประเด็นเพศมากนัก’
ท้ายสุด จากปัญหาของโครงสร้างในประเทศที่ไม่ได้เอื้อต่อประเด็นเพศ แม้จะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ทับถมด้วยประเด็นผู้สูงอายุ ที่ก็ยังไม่เห็นนโยบายแก้ไขที่ชัดเจน ทฤษฎี สว่างยิ่ง เตือนว่า เราอาจจะได้เห็นการฆ่าตัวตาย จากภาวะสูงวัยเพิ่มขึ้น
‘ เรากำลังจับตามองประเด็นนี้อยู่ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในอนาคตแน่นอน ถ้ามันไม่มีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่จะดูแลกลุ่มคนเหล่านี้ ขนาดประเทศญี่ปุ่นโครงสร้างพื้นฐานประเทศดีแต่เราก็ยังเห็นอัตราการฆ่าตัวตายสูง และถ้าหากเป็นประเทศไทยที่โครงสร้างไม่รองรับ และคนมีปัญหาทางสภาพจิตใจแบบนี้ จะเป็นอย่างไร พอต้องมานึกถึงอนาคต หลับตาแล้วคิดได้แต่ว่า ทำไงดี? ได้แต่เก็บเงิน เก็บเงิน และเก็บเงิน มันดูหดหู่’
ทั้งนี้ เคยมีผลสำรวจเมื่อปี 2023 ระบุว่า Gen Y หรือกลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 28 - 40 ปีในปัจจุบัน จะกลายเป็น ‘เดอะแบก’ ของสังคม โดยผลโพลจากจำนวนผู้ร่วมโหวต 179 คน พบว่า อันดับหนึ่ง 30.17% ของ Gen Y แบกการเป็นเสาหลักของบ้านที่ต้องดูแลครอบครัว รองลงมา 21.23% แบกความกลัวที่ใช้ชีวิตได้ไม่เต็มที่แถมเงินไม่พอ และ 15.64% แบกภาระหนี้สินอันหนักอึ้ง.