เปิดประเภท 'ผลิตภัณฑ์สุขภาพ' อย. คุมที่ไม่ใช่แค่ 'ยา' หลังรัฐจี้ของจีนทะลัก
หลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการ เคร่งครัดให้ อย. สกัดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพและผิดกฎหมายจากต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการควบคุมมาตรฐานสินค้า เพื่อปกป้องคุณภาพ ชีวิตประชาชน จากการบริโภคสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ ยกระดับการดำเนินคุณภาพชีวิตคนไทย
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมประชุมกับผู้แทนจากกรมศุลกากร ผู้แทนจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และผู้แทนจากบริษัทขนส่งเอกชน เร่งผลักดันมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในการป้องกันสินค้านำเข้าที่ผิดกฎหมาย เพื่อยกระดับมาตรการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายที่อยู่ในท้องตลาด อันจะส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
รายละเอียดมาตรการ
- ในที่ประชุมเน้นให้มีการเฝ้าระวังผู้นำเข้าที่มีประวัติการกระทำผิดกฎหมาย หรือเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพนำเข้ามาจำหน่ายในท้องตลาดที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดย จะดำเนินการเปิดตรวจตู้สินค้า เพื่อตรวจสอบสินค้าอย่างเข้มงวด ควบคุมการจัดทำฉลากสินค้าให้ถูกต้องก่อนการจำหน่าย
- ในส่วนของมาตรการเฝ้าระวังการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และติดตัว อย.จะพิจารณาปรับลดปริมาณ และจำกัดความถี่ของการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อใช้เฉพาะตัว ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลการนำเข้าร่วมกับไปรษณีย์ไทย และกรมศุลกากร
"อย่างเช่น ลิปสติกนำเข้ามา 6 แท่ง ใช้เวลาเท่าไหร่ถึงจะใช้หมด แล้วไปนำเข้ารอบใหม่มาใช้เฉพาะตัวอีกครั้ง ไม่ใช่ว่าอีก 2 วันแล้วไปนำเข้ามาใหม่"
- สำหรับการนำเข้าเครื่องมือแพทย์เพื่อใช้เฉพาะตัว ผู้นำเข้าต้องยื่นใบรับรองแพทย์ต้นฉบับที่มีอายุไม่เกิน 3 เดือน นับจากวันที่ออกใบรับรองแพทย์ ประกอบการนำเข้าด้วย
- อย. จะมีการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายในและภายนอกที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังตามมาตรการดังกล่าวอย่างเข้มงวด โดยได้มอบหมายให้กองด่านอาหารและยาเป็นแกนในการประสานความร่วมมือ และเน้นย้ำถึงมาตรการให้ทั้ง 52 ด่าน ทั่วประเทศถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
- หารือกับสถานทูตเพื่อพัฒนาให้สินค้าที่นำส่งมาประเทศไทยมีคุณภาพมาตรฐานตามที่ประเทศไทยกำหนด
เปิด 'ผลิตภัณฑ์สุขภาพ' ในการกำกับของ อย.
เมื่อดูจากแนวนโยบายของ อย. จะเห็นว่าได้นอกจากมีการใช้มาตรฐานของสินค้าสุขภาพเข้ามาควบคุม ยังมุ่งเน้นการจำกัดปริมาณการสั่งซื้อเข้ามาใช้ (โดยอ้างว่าเป็นการสั่งซื้อส่วนตัว) หากพิจารณาจากสภาพตลาดออนไลน์ที่เห็น จะพบว่าในหมวดหมู่ของ 'เครื่องสำอาง' ที่มีการลอบนำเข้ามาขายอย่างผิดกฎหมาย และมีการนำเข้าในปริมาณมาก หรือนำเข้ามาถี่มากเกินไป จะได้รับการควบคุมและดูแลทันที รวมไปถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ ที่อย.มีอำนาจ
ทั้งนี้ แม้จะเป็นคณะกรรมการอาหารและยา สังกัดในกระทรวงสาธารณสุข แต่อย. มีอำนาจในการควบคุมผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งรวมทั้งสินค้าที่ไม่ใช่ยาด้วย โดย 'ผลิตภัณฑ์สุขภาพ' ในการดูแลกำกับของ อย. มีดังนี้
1. ผลิตภัณฑ์ยา
อาทิ ยารักษาโรคชนิดต่าง ๆทั้งที่มีลักษณะเป็นยาเม็ด ยาน้ำ ยาทา ยาฉีด เป็นต้น รวมถึงยาสมุนไพร
2. ผลิตภัณฑ์อาหาร
อาทิอาหารในภาชนะบรรจุปิดสนิท ผลิตภัณฑ์นมกาแฟ อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เช่น นมและผลิตภัณฑ์จาก นม เมล็ดกาแฟ เครื่องดื่มพร้อมชง พืชผักผลไม้แห้ง กาแฟชนิดฟรีซดายและชา สารทดแทนความหวานชนิดแห้ง เครื่องเทศชนิดแห้งจากพืช อาหารชนิดแห้งจากสัตว์ ผลิตภัณฑ์ขนม เส้นธัญพืช เนื้อสัตว์แปรรูป พืชผักผลไม้สดแปรรูป ผลิตภัณฑ์แต่งรสหวานชนิดเหลว ซอส เครื่องปรุงชนิดเหลว น้ำมันและไขมัน เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์
3. อาหารเสริม (ตามกฎหมายคือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร)
ผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับทารก อาหารทางการแพทย์ นมจากมนุษย์
4. เครื่องสำอาง
อาทิ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าครีมหรือโลชั่นบำรุงผิว ครีมรองพื้นแป้งทาหน้า ลิปสติก ที่ทาตา/แก้ม ครีมกันแดด น้ำหอมผลิตภัณฑ์ย้อมผม เจลแต่งผม ผลิตภัณฑ์ทาเล็บ
5. เครื่องมือแพทย์
อาทิ ถุงยางอนามัย เก้าอี้ไฟฟ้าสถิต คอนแทคเลนส์ รวมถึงคอนแทคเลนส์แฟชั่น เครื่องนวดที่นอนแม่เหล็ก พลาสเตอร์แม่เหล็ก เครื่องสั่นสะเทือน
6. ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน
อาทิผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดแมลงในบ้านเรือน ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำ ผลิตภัณฑ์ลบคำผิด
7. ผลิตภัณฑ์วัตถุเสพติด
อาทิ ยาเสพติดที่มีการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เช่น มอร์ฟีน ฝิ่นยาหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เช่น ยานอนหลับ ยาลดความอ้วนบางชนิดแม้แต่สารระเหยจำพวกทินเนอร์แลกเกอร์ กาวยาง ฯลฯ