เสียงสะท้อนจาก 'ประชาชน' อยากได้อะไรใน ‘กล่องรับขวัญ’ ถ้ารัฐอยากให้มีลูก
บทความพิเศษ ฟังเสียงสะท้อนจากประชาชน อยากได้อะไรใน ‘กล่องรับขวัญ’ หากรัฐอยากเชิญชวนให้ ‘มีลูกกันเถอะ’ หลังมีภาพรัฐออก 'กล่องรับขวัญ' คิกออฟนโยบายชวนมีบุตร ชี้สวัสดิการเหลื่อมล้ำระหว่าง ประกันสังคม-บัตรทอง และสภาพแวดล้อมมีผล!
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้จัดพิธีมอบกล่องของขวัญให้ผู้ปกครองในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีเด็กเกิดในวันที่ 28 กรกฎาคม โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน เพื่อเป็นการแสดงถึงความรัก ความห่วงใยต่อเด็กที่จะเติบโตเป็นเยาวชนและเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต
ทั้งนี้ น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง ระบุว่า
“ปัจจุบัน ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์แล้ว กล่องของขวัญนี้ เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อส่งเสริมนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มอบให้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการ สธ. ขับเคลื่อนส่งเสริมการมีบุตรให้มีคุณภาพ เพื่ออนาคตของชาติในการทำงานเพื่อประเทศชาติต่อไป เพื่อขับเคลื่อนชวนประชาชน มีลูกกันเถอะ” น.ส.ตรีชฎากล่าว
- เปิดกล่องรับขวัญ จุดเริ่มต้นส่งเสริมนโยบาย ‘อยากมีลูก’ ที่พรรคเพื่อไทยบอก มีอะไรบ้าง
โพสต์ทูเดย์ สอบถามแหล่งข่าวถึงของที่บรรจุอยู่ในกล่องรับขวัญ ระบุว่ามีสิ่งของดังนี้
- ของเล่นไม้เสริมสร้างพัฒนาการ
- หนังสือนิทาน
- หนังสือนุ่มนิ่ม
- บันทึกลูกรัก
- ชุดเครื่องมือ 7 วิธีพัฒนาลูกสมวัยสมองดีมีอีเอฟ
- คู่มือเลี้ยงลูก 0-3 ขวบสไตล์คุณแม่ญี่ปุ่น
- ผ้าห่อตัวเด็กเล็ก
โพสต์ทูเดย์ติดตามการแก้ไขปัญหาวิกฤตประชากรในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลาหลายเดือน โดยเฉพาะประเด็นการส่งเสริมให้คนมีบุตร
ล่าสุดแม้จะมีนโยบายออกมาจากกระทรวงพม. ที่มองว่าจะเป็นแกนหลักในการแก้ไขวิกฤตประชากรของประเทศ แต่ก็ยังต้องตั้งคำถามว่านโยบายดังกล่าวจะสามารถแก้ไขวิกฤตประชากรได้ไวอย่างที่ประเทศนี้ต้องการหรือไม่ในเมื่อปนะเทศไทยกำลังจะก้าวสู้สังคมสูงวัยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ทางด้านกระทรวงสาธารณสุขเองก็มีนโยบายที่จะให้สิทธิ 30 บาทแก่ครอบครัวที่ต้องรักษาผู้มีบุตรยาก แต่ก็ออกมายอมรับกลายๆ ว่านโดยบายดังกล่าวคงจะไม่สามารถช่วยในเรื่องของการเพิ่มประชากรได้
สรุปคือ ยังไม่มีนโยบายไหน ที่ปักธงได้ว่า ประเทศไทยจะรอดจาก ‘วิกฤตประชากร’ และทำให้คนอยากมีลูก
สิ่งของภายใน ‘กล่องรับขวัญ’ กล่องนี้แม้จะถูกเลือกสรรมาอย่างดี แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่อาจตอบสนองความต้องการของครอบครัว ที่กำลังชั่งใจจะมีลูกได้
โพสต์ทูเดย์จึงขอสะท้อนเสียงของประชาชนว่า ‘พวกเขาต้องการอะไร’ เป็น ‘สิ่งรับขวัญ’ กันแน่
- ฟังเสียงสะท้อนจาก ‘แม่ๆ’ ระบุ เหตุผลตัดสินใจมีลูกคือ สวัสดิการ แต่ยังคงเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียม
คุณมนต์ศิริ ยืนศิริวัฒนานุกูล คุณแม่ลูกน้อยในวัยกำลังจะครบ 1 ปี ให้สัมภาษณ์กับโพสต์ทูเดย์ระบุถึงปัญหาสำคัญผ่านประสบการณ์มีบุตรตลอด 1 ปีของเธอว่า
‘สวัสดิการรัฐสนับสนุนแค่คนระดับล่าง’
โดยคุณแม่ลูกหนึ่งท่านนี้ตั้งคำถามว่า สวัสดิการควรจะครอบคลุมคนทุกระดับหรือไม่
‘ คนที่มีรายได้และจ่ายภาษีเข้าประกันสังคม แต่ประกันสังคมกลับไม่ดีเท่าสวัสดิการบัตรทอง เช่น ค่าฝากครรภ์ก็เบิกไม่ได้ ไม่อยู่ในประกันสังคม ให้แค่ค่าคลอดที่จำกัดแค่ 15,000 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการคลอดที่ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ค่ะ
มองว่าสวัสดิการไม่ได้เข้าถึงคนทุกระดับ คนที่มีเงินก็ต้องจ่ายไป มันคือความเหลื่อมล้ำในอีกมุมหนึ่ง’
เธอเล่าให้ฟังว่า แม้จะได้เงินชดเชยจากการลาคลอดก็จริง แต่บางบริษัทที่ดีก็จะให้เงินเดือนชดเชย 90 วัน แต่บางบริษัทให้แค่ 45 วัน และที่เหลือจะต้องไปเบิกกับประกันสังคม ซึ่งเงินที่ได้ ไม่ได้คิดบนพื้นฐานฐานเงินเดือนที่เราขาดไป ไม่สะท้อนค่าใช้จ่ายและรายรับตามจริง
‘ เวลาจ่ายภาษีคิดตามฐานเงินเดือน แต่เวลาที่เราขอสวัสดิการกลับให้เท่ากัน แบบนี้ไม่สะท้อนค่าใช้จ่ายตามความจริง แล้วจะใช้ชีวิตอย่างไร
ก็มาสู่ทางเลือกว่า ถ้างั้นต้องลาคลอดไม่ถึง 90 วันแล้วกลับไปทำงาน ถามว่าแล้วคุณภาพชีวิตของลูกที่เกิดมาล่ะ แถมยังต้องหาคนช่วยเลี้ยงอีก’
ทั้งนี้ สิทธิประกันสังคมจะสามารถเบิกค่าฝากครรภ์วงเงินรวม 1,500 บาท (5ครั้ง) คลอดบุตรแบบเหมาจ่ายในวงเงิน 15,000 บาทต่อครั้ง และสามารถเบิกเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร โดยเบิกได้ 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย แต่สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน และสามารถเบิกค่าสงเคราะห์เลี้ยงดูบุตร 800 บาทต่อเดือน ตั้งแต่เกิดจนถึง 6 ปี
ในขณะที่สิทธิบัตรทองมีสิทธิประโยชน์ตั้งแต่การฝากครรภ์และคลอดได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
- ปัจจัยพื้นฐานควรเพิ่มเติมและควรรักษามาตรฐานโดยเฉพาะระบบสุขภาพ
นอกจากนี้ คุณมนต์ศิริยังตั้งคำถามถึงค่ารักษาพยาบาลของเด็กซึ่งมีราคาแพง โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนเสริม ที่เฉลี่ยต่อครั้งหลายพันบาท
‘ ค่ารักษาพยาบาลของเด็กแพงมาก โดยเฉพาะเรื่องของวัคซีน วัคซีนพื้นฐานมีให้ แต่จริงๆ เด็กต้องฉีดวัคซีนเสริมอื่นๆ ที่มีผลต่อสุขภาพของเขาด้วย แต่สิ่งนี้กลับไม่ถูกบรรจุอยู่ในปัจจัยพื้นฐานที่ควรได้รับ
อย่างเช่นวัคซีน RSV ที่ระบาดมากและจำเป็นต้องฉีด ก็ไม่ได้ครอบคลุม ส่วนตัวต้องเก็บเงินให้ลูกแต่ละเดือนเพื่อค่าวัคซีนจนโต คิดๆ แล้วก็น่าจะมีหลักหมื่นที่เราต้องเสียเพิ่ม ’
ไม่ใช่เพียงสวัสดิการเท่านั้น แต่ระบบการรักษาในโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สร้างความกังวลไม่น้อย
‘ เราเสียภาษีให้รัฐ แต่เราต้องจ่ายเงินให้โรงพยาบาลเอกชนเพื่อใช้โรงพยาบาลที่เราคิดว่าดี และไม่ต้องรอ นอกจากนี้ก่อนที่จะคลอด เราเห็นข่าวที่ว่าโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งหากคลอดก่อนกำหนดจะไม่รับ เพราะบางที่ไม่มีห้อง NICU แม่บางคนต้องวิ่งหาโรงพยาบาลคลอดเองในกรณีฉุกเฉิน จริงอยู่ว่าเป็นแค่โรงพยาบาลบางแห่ง แต่จริงๆ ควรจะเป็นมาตรฐานเดียวกัน หรือมีการควบคุมมาตรฐานมากกว่านี้หรือเปล่า’
สุดท้ายแล้วคุณแม่ลูกหนึ่งท่านนี้ก็ยอมรับว่า คงไม่มีลูกคนที่ 2
‘ ทุกวันนี้การตัดสินใจว่าจะมีลูกอยู่บนพื้นฐานความพร้อมของตัวเอง มากกว่าหวังพึ่งรัฐ ก็เลยกังวล และคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ทำให้ไม่อยากมีลูกคนที่ 2 อีก’
- นอกจากสวัสดิการ อากาศสะอาด และการศึกษาก็ต้องนึกถึง
ทางด้านคุณแม่ที่กำลังอยู่ในช่วงของการวางแผนตั้งครรภ์อย่าง คุณกีรติ วุฒิสกุลชัย ซึ่งหวังจะสร้างครอบครัวที่บ้านเกิดโดยการย้ายกลับไปอยู่ที่จังหวัดเชียงราย จากเดิมที่เคยทำงานที่กรุงเทพฯ มองว่า นอกจากประเด็นสวัสดิการต่างๆ ประเด็นด้านสภาพแวดล้อมก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ
‘ สิ่งที่กังวลที่สุดตอนนี้คือ อากาศสะอาด อยู่ที่ไหนก็ไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเชียงรายหรือกรุงเทพฯ เพราะมันเป็นเรื่องสุขภาพ มันกระทบพัฒนาการของลูก ก็เลยต้องเตรียมตัว ทำได้แค่ห้องที่มีระบบทำอากาศให้สะอาด หรืออยู่ไม่ได้ก็ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นซึ่งอากาศดีกว่าไปเรื่อยๆ
นอกจากนี้ก็เป็นเรื่องการศึกษาใกล้บ้าน รู้สึกว่าพอย้ายมาอยู่ในที่ๆ ไม่ใช่ตัวเมือง การศึกษาใกล้บ้านที่ดีกับลูกก็ยังไม่มี ซึ่งก็ถามตัวเองว่าต้องสร้างเองเหรอ? อยู่ประเทศนี้อยากได้อะไรต้องสร้างเองตลอดเลย ต้องไปซื้อบ้านซื้อที่ใกล้โรงเรียน เพื่อให้ลูกได้เรียนที่ดีๆ ก็คงไม่ใช่
ปัญหาของต่างจังหวัดคือเรื่อง บุคลากรครู เพราะว่าอย่างกรุงเทพฯ ที่เพิ่งไปเซอร์เวย์ดู ก็คืออยู่หลังบ้าน 5 นาทีถึง มีโรงเรียนให้เลือกเยอะ เรารู้สึกว่าความกระจุกของครูอยู่ที่กรุงเทพฯ ครูดีๆ ก็อยากไปทำงานรับรายได้ดีๆ ที่กรุงเทพฯ
โรงเรียนต่างจังหวัดดีๆ ผู้บริหารมีอุดมการณ์ที่ดีก็มี แต่บางครั้งก็ติดที่การหาครูดีๆ ไม่ได้ ก็เคยมีความลังเลว่าจะเลี้ยงลูกที่กรุงเทพฯ หรือจะกลับไปที่บ้านที่เชียงรายดีเหมือนกัน’
- ปัญหาของคนมีลูก แต่สามารถสะท้อนเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ทั้งระบบ
ปิดท้าย โพสต์ทูเดย์ถามถึงความเห็นต่อนโยบายของรัฐที่ชวนคุณแม่ให้มีบุตร โดยว่าที่คุณแม่ท่านนี้ระบุว่า
‘ นโยบายที่จะมาซัพพอร์ตยังไม่เห็นตอนนี้ มีลูกแล้วจะมีสวัสดิการที่มารับรองรึเปล่า ถามว่าครอบคลุมแบบไหนต้องทุกสิ่งทุกอย่างมั้ย ก็ต้องยอมรับว่าประเทศที่สวัสดิการครอบคลุมทุกสิ่งจ่ายภาษีสูง แต่ส่วนตัวก็มองว่าประเทศเราไม่ได้จ่ายภาษีต่ำ แต่ระบบภาษียังไม่สามารถเก็บได้แบบเต็มเม็ดทุกหน่วย เลยไม่สามารถเทิร์นเป็นสวัสดิการกลับมาได้เหมือนกัน
ส่วนตัวมองว่าคงต้องไปแก้ภาพรวมไปพร้อมๆ กัน อาจจะไม่ใช่แค่การบอกว่า ให้เงินเดือนแม่ 6 เดือนแรกจบ แต่อาจจะต้องแก้ภาพที่ใหญ่กว่านั้นไปพร้อมๆ กัน ด้วย เช่น ระบบจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ หรือระบบการศึกษาให้มีคุณภาพ มันเกี่ยวโยงกันไปหมดเพราะระบบบ้านเรามันเหลื่อมล้ำไปไกลแล้วค่ะ’
และนี่คือบางส่วนของเสียงสะท้อนของคนที่อยากสร้างครอบครัว แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ ก็ได้แต่หวังว่า 'กล่องรับขวัญ' ที่ทางพรรคเพื่อไทยบอกว่าจะเป็นตัวคิกออฟนโยบายเพิ่มประชากร จะมีอะไรที่ตอบสนองความต้องการของ 'เหล่าคุณแม่' ได้จริงๆ