เมื่อ AI ช่วยให้เราตรวจโรคหลอดเลือดสมองผ่านสมาร์ทโฟน
โรคหลอดเลือดสมอง จัดเป็นโรคร้ายแรงที่ต้องได้รับการรักษาเร่งด่วนเพราะอาจนำไปสู่การเสียชีวิตและทุพลภาพ นี่เป็นเหตุผบให้มีการพัฒนาแอปพลิเคชัน AI ที่ตรวจวินิจฉัยโรคนี้ผ่านสมาร์ทโฟน
โรคหลอดเลือดสมอง(Stroke) ทุกท่านย่อมรู้จักโรคนี้ในฐานะโรคที่เกิดปัญหากับการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงสมอง ทำให้สมองที่เป็นส่วนสำคัญที่สุดของมนุษย์ไม่ได้รับออกซิเจนและสารอาหารเพียงพอ ทำให้เซลล์สมองเกิดความเสียหายและตายอย่างถาวรจนส่งผลต่อสุขภาพและการใช้ชีวิต
ด้วยการเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับ 3 จากทั่วโลก ทำให้โรคหลอดเลือดสมองจัดเป็นโรคอันตรายที่จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ผู้ป่วยควรได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเพื่อยับยั้งความเสียหาย แต่ในความจริงใช่ว่าทุกคนจะสามารถเข้ารับการช่วยเหลือได้ทันท่วงทีเสมอไป นำไปสู่การบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตในที่สุด
นำไปสู่การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์สำหรับตรวจอาการหลอดเลือดสมองผ่านสมาร์ทโฟน
AI ที่ตรวจหลอดเลือดสมองผ่านสมาร์ทโฟน
ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก RMIT University กับการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์รูปแบบใหม่ อาศัยเพียงการถ่ายคลิปการขยับของใบหน้าในเวลาไม่กี่วินาทีมาประมวลผล ก็สามารถระบุได้ทันทีว่าผู้ป่วยที่อยู่ในภาพมีอาการของโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่
อาการของโรคหลอดเลือดสมองประเมินผลได้ยากต้องรอจนอาการกำเริบจึงเห็นผล หลายครั้งผู้ป่วยไม่แสดงอาการจึงอาจเกิดข้อผิดพลาดในการวินิจฉัย แม้จะมีระบบทดสอบอาการแต่ก็ต้องอาศัยการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ ทำให้หลายครั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินผู้ป่วยไม่สามารถเข้ารับการรักษาทันท่วงที
นี่เป็นเหตุผลให้ทีมวิจัยคิดค้นพัฒนาซอฟต์แวร์ AI สำหรับใช้ในการตรวจสอบโรคหลอดเลือดสมองโดยเฉพาะ ระบบจะทำการวิเคราะห์ความสมมาตรขอใบหน้าและการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ แล้วสามารถแจ้งเตือนได้ว่าผู้เข้ารับการตรวจมีอาการของโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่
พื้นฐานของระบบนี้อาศัยคุณสมบัติจากเทคโนโลยีจดจำการแสดงออกทางสีหน้า จากนั้นจึงทำการวิเคราะห์ขยับเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้าโดยละเอียด โดยเฉพาะการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อใบหน้าในช่วงเวลายิ้ม ที่สามารถนำมาประเมินและตรวจจับสัญญาณโรคหลอดเลือดสมองได้
ขั้นตอนการใช้งานระบบนี้เรียบง่ายเพียงถ่ายคลิปการยิ้มหรือการเปลี่ยนแสดงสีหน้าต่างๆ ของผู้เข้ารับการตรวจ AI จะทำการประเมินความสมมาตรของกล้ามเนื้อใบหน้าและระบุอาการป่วยโดยอัตโนมัติ โดยในขั้นตอนทดสอบปัญญาประดิษฐ์สามารถระบุผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอยู่ที่ 82%
นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ช่วยตรวจคัดกรองและทำให้ผู้ป่วยเข้ารับการช่วยเหลือได้ทันท่วงทียิ่งขึ้น
แอปพลิเคชันที่จะช่วยรักษาและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย
สำหรับหลายท่านแนวคิดในการพัฒนาแอปพลิเคชันตรวจโรคหลอดเลือดสมองไม่ใช่ของใหม่ ที่ผ่านมามีการคิดค้นแอปพลิเคชันแนวนี้ขึ้นมาหลายรูปแบบ ทั้งการตรวจจับรอยยิ้ม เสียงพูด และการขยับแขน เพื่อตรวจสอบอาการในขั้นต้น ในประเทศไทยก็มีการพัฒนาแอปพลิเคชัน Stroke Fast Track สำหรับช่วยผู้ป่วยหลอดเลือดสมองโดยตรง
จุดเด่นสำคัญของแอปพลิเคชันนี้คือศักยภาพในการตรวจสอบอาการอย่างรวดเร็ว ขั้นตอนการตรวจก็เพียงการถ่ายคลิปและเปลี่ยนสีหน้าเพียงไม่กี่วินาที สำหรับผู้ป่วยนี่จึงเป็นแนวทางการตรวจที่สะดวกและเข้าถึงง่าย ลดความเสี่ยงต่อความเสียหายทางสมองที่อาจจะเกิดจากโรค
ส่วนนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่การแพทย์ด้วยเช่นกัน การให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรคจำเป็นต้องอธิบายให้ผู้ป่วยทำความเข้าใจและขอความร่วมมือ เปรียบเทียบกับการเข้ารับการตรวจแบบเก่า การใช้งานแอปพลิเคชันจะช่วยลดภาระในการตรวจและประหยัดเวลาเจ้าหน้าที่
ตัวระบบยังมีขั้นตอนและกลไกการใช้งานเรียบง่าย การประเมินอาการโรคหลอดเลือดสมองจึงอาจไม่จำกัดที่กับเจ้าหน้าที่การแพทย์อย่างเดียว เจ้าหน้าที่กู้ภัยยังอาจนำมาใช้งานในการคัดกรองเบื้องต้น สำหรับประเมินอาการของผู้ประสบอุบัติเหตุในที่เกิดเหตุได้อีกด้วย
แน่นอนแอปพลิเคชันนี้ไม่ได้จะมาทดแทนหรือแย่งหน้าที่การวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญ เพียงเข้ามาเพิ่มความสะดวกและลดข้อผิดพลาดในการปฏิบัติงานเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองบางส่วนได้รับการวินิจฉัยผิดพลาด จนนำไปสู่ผลกระทบทางสุขภาพซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
นี่จึงเป็นเครื่องมือสนับสนุนและโอกาสเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยโรคแม้จะไม่ได้เข้าพบกับผู้เชี่ยวชาญ
อย่างไรก็ตามตัวแอปพลิเคชันยังคงอยู่ในระดับการค้นคว้าวิจัย ยังคงต้องได้รับการพัฒนาในหลายด้าน โดยเฉพาะในส่วนความแม่นยำที่ยังต้องได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติม แต่ในอนาคตทีมวิจัยตั้งเป้าว่า ระบบตรวจจับสีหน้าของพวกเขาจะไม่เพียงตรวจพบโรคหลอดเลือดสมอง แต่จะครอบคลุมการชี้วัดของโรคทางระบบประสาทอื่นๆ ในแอปเดียว
คงต้องรอดูต่อไปว่าแอปพลิเคชันนี้จะถูกพัฒนาให้สามารถนำมาใช้งานจริงได้หรือไม่
ที่มา
https://www.eurekalert.org/news-releases/1048439
https://www.eurekalert.org/news-releases/887953
https://interestingengineering.com/innovation/ai-app-on-smartphones-spot-strokes