อีกขั้น! นักวิจัยจีนใช้หยดเลือดแห้งตรวจหามะเร็ง
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งทำได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่เอกซเรย์ เก็บตัวอย่างเลือด ไปจนตัดชิ้นเนื้อ แต่จะเป็นอย่างไรถ้ามีเทคโนโลยีที่ช่วยให้เราใช้หยดเลือดแห้งในการตรวจหามะเร็งตับและตับอ่อนได้
เมื่อพูดถึงมะเร็งทุกคนย่อมเข้าใจโดยทั่วกันว่านี่เป็นโรคร้ายแรง จัดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ ของทั่วโลก แม้ปัจจุบันจะเริ่มมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถรักษาและประคองอาการได้มากขึ้น แต่โรคนี้ก็ยังทิ้งผลกระทบทางสุขภาพเอาไว้ในหลายด้าน
แน่นอนว่ามะเร็งจัดเป็นโรคที่เราไม่อยากให้เกิดทั้งต่อตัวเองหรือคนใกลัตัวแต่ใช่ว่าเราจะหลีกเลี่ยงได้เสมอไป ดังนั้นในกรณีที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจึงหลายท่านคงคาดหวังให้มีการตรวจพบแต่เนิ่นๆ เพราะยิ่งมีการตรวจวินิจฉัยและเริ่มต้นรักษาเร็วเท่าใดก็ยิ่งมีโอกาสหายเป็นปกติมากเท่านั้น
นี่เป็นเหตุให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีตรวจโรคมะเร็งอย่างต่อเนื่อง สู่การตรวจมะเร็งผ่านเลือดไม่กี่หยด
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งผ่านหยดเลือดแห้ง
ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก Shanghai Jiao Tong University จากประเทศจีน กับการคิดค้นระบบการตรวจเลือดแบบใหม่ อาศัยเพียงหยดเลือดแห้งก็สามารถตรวจหามะเร็งได้หลายชนิด ตั้งแต่มะเร็งตับอ่อน มะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมถึงมะเร็งกระเพาะอาหารได้อย่างแม่นยำ
แนวทางการตรวจวินิจฉัยมะเร็งได้รับการคิดค้นขึ้นมาหลากหลายรูปแบบ เช่น ตรวจภายใน อัลตราซาวน์ เอกซเรย์ ซีทีสแกน สารบ่งชี้ การติดเชื้อ ไปจนการตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจสอบ ขึ้นกับชนิดและประเภทของมะเร็ง ซึ่งแต่ละรูปแบบก็มีความซับซ้อนและค่าใช้จ่ายแตกต่างกันไป
ด้วยเหตุนี้ทางทีมวิจัยจึงได้ทำการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่ได้รับการป้อนข้อมูลผลเลือดของผู้ป่วยมะเร็ง ทำให้เกิดระบบที่สามารถคัดกรองและตรวจวัดสารประกอบและโมเลกุลภายในเลือด นำไปสู่การคัดกรองความแตกต่างระหว่างผู้ป่วยมะเร็งกับคนปกติในที่สุด
รูปแบบการใช้งานระบบนี้เรียบง่ายเพียงเก็บตัวอย่างเลือดของผู้เข้ารับการตรวจเพียงไม่กี่หยด อาศัยหยดเลือดแห้งปริมาณเพียง 0.05 มิลลิลิตร โดยไม่จำเป็นต้องเจาะหรือเก็บตัวอย่างเลือดในรูปแบบของเหลวอย่างเคย จากนั้นจึงนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบซึ่งสามารถทำได้เสร็จสิ้นในไม่กี่นาที
ผลทดสอบการใช้งานพบว่าอุปกรณ์นี้สามารถแยกแยะและคัดกรองระหว่างผู้ป่วยและคนปกติได้อย่างแม่นยำ โดยหยดเลือดแห้งสามารถใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งตับอ่อนได้ในระดับความแม่นยำ 81.2% สูงกว่าการใช้ตัวอย่างเลือดทั่วไปซึ่งมีความแม่นยำอยู่ราว 76.2%
นี่จึงถือเป็นหมุดหมายใหม่ที่จะช่วยให้เราสามารถตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งได้อย่างแม่นยำ
สู่มิติใหม่แห่งการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง
อันที่จริงการตรวจวินิจฉัยมะเร็งผ่านเลือดไม่ใช่ของใหม่ ที่ผ่านมามีการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำไปตรวจความสมบูรณ์ โปรตีนบางชนิด หรือสารบ่งชี้เพื่อตรวจวัดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งแล้วเช่นกัน อย่างไรก็ตามสำหรับมะเร็งตับอ่อน การตรวจเลือดยังมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถตรวจสอบได้หากผู้ป่วยยังไม่เริ่มแสดงอาการ
แตกต่างจากการตรวจหยดเลือดแห้งที่ได้รับการพัฒนาให้ใช้ในการคัดกรองระยะแรกได้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยมะเร็งตับ ตับอ่อน กระเพาะอาหาร ไปจนลำไส้ตั้งแต่เนิ่นๆ ช่วยเพิ่มอัตรารอดชีวิตและโอกาสในการรักษาให้หายขาดของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก
การตรวจวินิจฉัยที่พวกเขาพัฒนายังใช้เพียงหยดเลือดแห้ง ตัวอย่างเลือดที่ต้องใช้ในขั้นตอนการตรวจจึงน้อยมาก แทบไม่สร้างภาระหรือผลกระทบแก่สุขภาพของผู้เข้ารับการตรวจเลย เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคประจำตัวต่างๆ ที่ต้องการเข้ารับการตรวจวินิจฉัยมะเร็ง
นอกจากนี้การตรวจด้วยหยดเลือดแห้งยังมีความสะดวกกว่าในหลายด้าน เนื่องจากไม่ต้องอาศัยเครื่องมือเฉพาะทางหรือผู้มีความชำนาญ สามารถเก็บรักษาเอาไว้ได้ในระดับอุณหภูมิห้อง อีกทั้งยังสามารถเก็บตัวอย่างได้ในบรรจุภัณฑ์ขนาดเท่านามบัตร จึงสะดวกทั้งต่อการเก็บตัวอย่างและการขนส่งไปตรวจในห้องปฏิบัติการ
นี่จึงทำให้การตรวจวินิจฉัยมะเร็งผ่านหยดเลือดแห้งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองในพื้นที่ห่างไกลหรือทุรกันดารซึ่งขาดแคลนทรัพยากร เพิ่มความสะดวกในการเก็บตัวอย่างส่งตรวจ รวมถึงโอกาสให้ผู้ป่วยเข้ารับวินิจฉัยและรักษาตัวแต่เนิ่นๆ ทำให้อัตราการรักษาหายเพิ่มสูงขึ้นในที่สุด
อย่างไรก็ตามการตรวจวินิจฉัยมะเร็งผ่านหยดเลือดแห้งยังอยู่ในระหว่างการค้นคว้าวิจัย ยังต้องได้รับการพัฒนาอีกหลายด้าน ทั้งจำนวนข้อมูลที่ป้อนเข้าสู่ระบบและจำนวนตัวอย่างที่เข้าร่วมการทดสอบยังมีน้อย กว่าจะเสร็จสมบูรณ์จนสามารถนำมาใช้งานจึงต้องใช้เวลาอีกไม่น้อย
คงต้องรอดูกันต่อไปว่าสุดท้ายการตรวจวินิจฉัยมะเร็งจากหยดเลือดแห้งจะสามารถนำมาใช้งานจริงได้หรือไม่
ที่มา
https://bangpakok3.com/care_blog/view/152