posttoday

เช็คก่อนไตพัง จุฬาฯพัฒนา ‘ชุดตรวจคัดกรองไตเสื่อมด้วยตนเอง’ แม่นยำสูง!

26 มีนาคม 2567

สำเร็จ! จุฬาฯ ร่วมมือภาครัฐ พัฒนาชุดตรวจคัดกรองไตด้วยตนเอง เช็คไตป่วยได้แม่นยำ หวังลดจำนวนผู้ป่วยไตเรื้อรังซึ่งพุ่งสูงกว่า 11 ล้านคน และลดค่าใช้จ่ายภาครัฐจากการรักษากว่าหมื่นล้านบาทต่อปี เตรียมเปิดขายผ่านช่องทางเอกชน พร้อมผลักดันเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพต่อไป

แพทย์จุฬาฯ คิดค้นนวัตกรรม ‘ชุดตรวจไมโครอัลบูมินในปัสสาวะ’ ที่สามารถคัดกรองภาวะไตเสื่อมได้ด้วยตนเอง เน้นใช้งานง่ายและแม่นยำสูง โดยใช้เวลาการพัฒนามากกว่า 6 ปี โดยทีมวิจัยประกอบด้วย ศ.ดร.นพ.ณัฐชัย ศรีสวัดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคไตในภาวะวิกฤตแห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, รศ.ดร.กิตตินันท์ โกมลภิส รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์,  ศ.ดร.ศิริรัตน์ เร่งพิพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์ตรวจวินิจฉัยตามมาตรฐานสากล Qualified Diagnostic Development center

ภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐและภาคเอกชนได้แก่ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และโปรแกรมบริหารและพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ขั้นสูง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) และ กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี

 

เช็คก่อนไตพัง จุฬาฯพัฒนา ‘ชุดตรวจคัดกรองไตเสื่อมด้วยตนเอง’ แม่นยำสูง!

 

  • โรคไตพัง ปัญหาเรื้อรังของสังคมไทย กว่าจะรู้ก็สายเสียแล้ว

ด้าน ศ.ดร.นพ.ณัฐชัย ศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคไตในภาวะวิกฤตแห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในประเทศไทยมากถึง 17.5.% ของประชากร คิดเป็นประชากรประมาณ 11 ล้านคน (อ้างอิงจากข้อมูลจาก Thai SEEK project โดย ศ.ดร.พญ.อติพร อิงค์สาธิต และคณะ) โดยในแต่ละปีจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง รวมถึงผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดทดแทนไต เพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ลดลง ภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้น และเพิ่มค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขคิดเป็นมูลค่าแตะหมื่นล้านบาทต่อปีแค่เฉพาะ สปสช.

 

ซึ่งจากสถิติพบว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีฟอกเลือดและวิธีล้างไตทางหน้าท้องอยู่ที่ประมาณ 378,095 บาทต่อรายต่อปี

 

นพ.ณัฐชัย ยังกล่าวอีกว่า สาเหตุที่โรคไตเป็นโรคที่ก่อให้เกิดการสูญเสียดังกล่าว เป็นเพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคไตจะไม่แสดงอาการใดๆ เมื่ออยู่ในระยะเริ่มต้น และจะแสดงอาการเมื่อไตลดประสิทธิภาพการทำงานเหลือเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ซึ่งจะมีอาการบวม เบื่ออาหาร โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่สามารถรักษาได้เป็นผล และนำไปสู่การฟอกไตในที่สุด

 

เพราะฉะนั้นการตรวจคัดกรองก่อนจึงเป็นส่วนที่ลดความรุนแรงของโรคได้ เพราะช่วงที่ไม่แสดงอาการจะกินระยะเวลาเกือบ 10 ปีและสามารถรักษาให้หายได้  หากสามารถตรวจเจอได้ก่อนที่โรคจะพัฒนาไปสู่ระยะที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด

 

นอกจากนี้ การตรวจวินิจฉัยโรคไตเรื้อรังจะอาศัยค่าการตรวจซีรั่มครีอะตินีนและการตรวจไมโครอัลบูมินในปัสสาวะ ซึ่งผู้ป่วยต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาล เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายและสูญเสียเวลาเป็นอย่างมากต่อผู้ป่วย  รวมไปถึงเทคนิคการตรวจค่าการทำงานของไตยังมีความหลากหลาย ทำให้บางครั้งขาดความแม่นยำ ทีมวิจัยจึงมีการพัฒนาชุดทดสอบไมโครอัลบูมินในปัสสาวะ (Microalbuminuria Rapid Test) ขึ้นภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)  เพื่อตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังในระยะเริ่มต้นขึ้น ซึ่งสามารถใช้งานง่าย ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการตรวจได้มากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางระบบสาธารณสุข

 

ทีมผู้วิจัยและพัฒนา

 

  • ใช้เวลาพัฒนานานกว่า 6 ปี มีผลแม่นยำร้อยละ 85-95 และตรวจจับได้ไวกว่า

ด้าน รศ.ดร.กิตตินันท์ โกมลภิส รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลว่าชุดตรวจดังกล่าวนี้มีความแม่นยำเทียบเคียงกับการตรวจคัดกรองในโรงพยาบาล กล่าวคือมีความแม่นยำสูงถึงร้อยละ 85-95 เนื่องจากตรวจจับโปรตีนอัลบูมินซึ่งเป็นโปรตีนที่แสดงให้เห็นว่ามีภาวะผิดปกติเกี่ยวกับโรคไตได้อย่างเฉพาะเจาะจง นอกจากนี้ยังได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติแล้ว

สำหรับชุดตรวจที่ผลิตขึ้นนี้จะมีการผลิตและแจกจ่ายโดยใช้ช่องทางของเอกชนผ่านทางกลุ่มบีเจซี บิ๊กซี เพื่อเพิ่มศักยภาพและความพร้อมในการทำการตลาดและมีช่องทางการกระจายสินค้าไปยังประชาชนผ่านทาง Pure Pharmace ในบิ๊กซี คลินิกสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น

นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังใช้กลไกในการตรวจสอบประสิทธิภาพชุดตรวจ โดยหน่วยงานศูนย์พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยมาตรฐานสากลแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจะสุ่มตัวอย่างชุดทอดสอบจากกระบวนการผลิตอยู่เสมอ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน

ทั้งนี้ คุณนริศา มัณฑางกูร ผู้อำนวยการทีเซลล์ (TCELS: Thailand Center of Excellence for Life Sciences) เปิดเผยว่ากำลังอยู่ในช่วงขับเคลื่อนและผลักดันชุดตรวจคัดกรองโรคไตด้วยตัวเอง เข้าสู่ตลาดภาครัฐ หรือเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยไม่มีค่าใช้จ่ายกว่า 48 ล้านคนต่อไป

 

หน้าตาของชุดตรวจ

 

  • ชุดตรวจคัดกรองไตด้วยตัวเอง ใช้งานง่ายได้ที่บ้าน

ชุดตรวจคัดกรองไตด้วยตัวเองนี้มีวิธีการใช้งานง่ายๆ โดยหน้าตาคล้ายคลึงกับการตรวจ ATK โควิด-19 ที่ประชาชนคุ้นเคย แต่เป็นการตรวจปัสสาวะแทน โดยกลุ่มที่ควรตรวจได้แก่

  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
  • ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60-65 ปี
  • บุคคลทั่วไปที่ต้องการทราบสุขภาพไตของตนเอง

 

สำหรับวิธีการตรวจ มีขั้นตอนดังนี้

  1. เก็บตัวอย่างปัสสาวะที่ต้องการลงในภาชนะสะอาด ซึ่งแนะนำให้เก็บในเวลาเช้า และไม่ควรดื่มน้ำก่อนการตรวจ
  2. ใช้หลอดหยดดูดปัสสาวะตัวอย่างหยดลงในช่องทดสอบ ซึ่งแถบทดสอบต้องวางบนพื้นราบ โดยหยดจำนวน 3 หยด รออ่านผล 10 นาที
  3. รอให้แถบสีปรากฎและอ่านผล ซึ่งไม่ควรรอนานเกิน 20 นาที และเปรียบเทียบผลกับคู่มือการใช้งานว่าผิดปกติหรือไม่
  4. หากผิดปกติ แนะนำให้ไปพบแพทย์ และเข้ารับการตรวจเบื้องต้นจากแพทย์เพิ่มเติม ส่วนผู้ที่ไม่พบความผิดปกติสามารถตรวจซ้ำได้ทุกปี

 

สำหรับแผนการวางจำหน่ายนั้นมีการเปิดเผยว่าจะมีการจัดจำหน่ายภายในช่วงกลางปี 2567 นี้เป็นต้นไป