posttoday

ทำไม 51 ปีผ่านไป ไทยเพิ่งจัดซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือให้ต่างประเทศ!

21 มีนาคม 2567

เบื้องหลังคาดการณ์มูลค่าตลาด B2B ของบริษัทต่างชาติ-ไทยในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 52 ซึ่งมีการจัดให้มีการพบปะกันเพื่อเจรจาธุรกิจครั้งแรกอยู่ที่ 351 ล้านบาทและอาจมากกว่านั้น โดยเฉพาะตลาดหนังสือวาย (Boy Love) ซึ่งได้รับความสนใจจากต่างชาติเป็นอย่างมาก

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 52 ที่กำลังจะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในปีนี้ สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกนั่นก็คือ การที่สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) TCEB ได้จัดงาน "Bangkok Rights Fair"  เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนลิขสิทธิ์หนังสือระหว่างสำนักพิมพ์ไทยและตัวแทนจำหน่าย (เอเจนซี) จากต่างประเทศ ในรูปแบบ Business to Business (B2B) โดยมีตัวแทนต่างชาติจาก 34 บริษัท ใน 14 ประเทศ และ 53 สำนักพิมพ์/ตัวแทนจำหน่าย (เอเจนซี) จากประเทศไทย เข้าร่วมเจรจา ระหว่างวันที่  28-30 มีนาคม 2567 ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าการซื้อขายลิขสิทธิ์ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 351 ล้านบาท ในขณะที่มูลค่าของหนังสือที่จะถึงมือนักอ่านแบบขายปลีก (B2C) นั้นอยู่ที่ 380 ล้านบาท ต่างกันเพียง 30 ล้านบาท และมีการคาดการณ์ว่าอาจจะแซงด้วยซ้ำเมื่อถึงงานวันจริง!

 

เกิดอะไรขึ้น? และในเมื่อตลาดสร้างมูลค่าได้ขนาดนี้ ทำไมต้องใช้เวลากว่า 51 ปีถึงจะเกิดขึ้นได้

 

ทำไม 51 ปีผ่านไป ไทยเพิ่งจัดซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือให้ต่างประเทศ!

ภาพรวมตลาดหนังสือ

สำหรับตลาดหนังสือในประเทศไทย ยอดขายที่สำรวจย้อนกลับไป 10 ปี ในปี พ.ศ.2557 ซึ่งเติบโตอยู่ที่ 25,900 ล้านบาท และตลาดมีมูลค่าตกลงในช่วงโควิดเหลือแค่เพียง 13,000 ล้านบาท และค่อยๆ ขยับโตขึ้นมาเรื่อยๆ ร้อยละ 10 จนถึงปัจจุบัน โดยปีนี้คาดการณ์ว่าตลาดหนังสือไทยจะเติบโตที่ 17,000 ล้านบาท

ในขณะที่ร้านขายหนังสือในลักษณะที่มีหน้าร้านก่อนหน้านี้ทั้งประเทศมีอยู่ 700 แห่งแต่ปีนี้ลดเหลือเหลือเพียง 300 แห่ง อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นมาทดแทนคือร้านหนังสือออนไลน์ ที่ขายตามแพลตฟอร์มต่างๆ นั้นเติบโตมาก รวมไปถึงการขายผ่าน Infuencer รีวิวหนังสือ ซึ่งจะมีฟังก์ชันในแพลตฟอร์มสั่งหนังสือจากที่ริวิวได้ คนรีวิวจะได้ค่าคอมมิชชันจากสำนักพิมพ์ และเป็นการขายที่ไม่ได้ยัดเยียดจนเกินไป

 

โดย คุณธีรภัทร เจริญสุข กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ได้ให้ข้อมูลว่า

“ตลาดหนังสือไม่ได้เล็กลง แค่เพียงตัวกลาง เช่น สำนักพิมพ์หรือร้านหนังสือเปลี่ยนรูปแบบไป พวกเขาไม่ใช่แค่เป็นสถานที่ผลิตหนังสืออย่างเดียว แต่ทำการตลาดและจัดอีเว้นท์ด้วย หรือแม้แต่บริษัทที่ทำซีรีย์ก็มาทำสำนักพิมพ์เอง เพราะสามารถขายตัวบทซีรีย์หรือนิยายที่ทำเป็นซีรีย์ได้อีกทางหนึ่ง”

 

ทำไม 51 ปีผ่านไป ไทยเพิ่งจัดซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือให้ต่างประเทศ!

 

จับคู่ธุรกิจขายลิขสิทธิที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตหนังสือให้แก่บริษัทไทย!

จะว่ากันไปแล้วลักษณะงาน Business Matching ที่เชิญบริษัทต่างชาติมาพบเจอบริษัทในไทยเพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยด้วยซ้ำ โดยคุณธีรภัทรได้ให้เล่าให้ฟังถึงสิ่งเกิดขึ้นว่า แต่เดิมสำนักพิมพ์ไทยซื้อลิขสิทธิ์ต่างชาติเยอะมาก สัดส่วนของหนังสือในร้านจะเป็นหนังสือแปลอยู่ที่ร้อยละ 80 ในขณะที่หนังสือไทยอยู่ที่ร้อยละ 20 เท่านั้น และสำนักพิมพ์ไทยจะซื้อลิขสิทธิต่างๆ ผ่านเอเจนซีมาโดยตลอด

“การดำเนินการลักษณะนี้จึงมีค่า Overhead Cost ให้เอเจนซี แต่ครั้งนี้เราเชิญสำนักพิมพ์มาซื้อขายเองโดยไม่ผ่านเอเจนซี ซึ่งสมาคมผู้จัดพิมพ์จะเป็นตัวกลางที่พาทุกคนมาเจอกัน สามารถคุยกันโดยตรง”

คุณธีรภัทรยังเปิดเผยอีกว่า ประโยชน์ที่ได้คือ ต้นทุนการซื้อลิขสิทธิ์ต่ำลง นอกจากนี้จากการที่ได้ติดต่อโดยตรง ไม่ต้องผ่านตัวกลาง ทำให้ขั้นตอนกระบวนการผลิตมีความรวดเร็ว ไม่ต้องส่งไปมาเป็นทอดๆ อีกอย่างคือเป็นโอกาสที่สำนักพิมพ์หรือคู่ค้าของต่างชาติที่สนใจหนังสือไทยอยู่แล้ว จะได้มาเจอสำนักพิมพ์ไทยโดยตรง

“น่าแปลกมากว่าสำนักพิมพ์ไทยแทบจะไม่มีเอเจนซีที่ขายลิขสิทธิ์หนังสือไทยให้ต่างชาติโดยตรง เราขายผ่านเอเจนซีต่างชาติตลอด อาจจะมีบ้างที่มีเอเจนซีเล็กๆ ที่ขายหนังสือไทยออกต่างประเทศ แต่เป็นประเภทหนังสือประเภทวรรณกรรมอย่างซีไรต์มากกว่า แต่งานในครั้งนี้คือโอกาสของหนังสือแนวบันเทิงซึ่งเป็นตลาดใหญ่ จะเลือกได้ว่าเรื่องไหนในไทยเป็นที่นิยมและสามารถซื้อไปขายต่างประเทศได้”

 

ทำไม 51 ปีผ่านไป ไทยเพิ่งจัดซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือให้ต่างประเทศ!

 

51 ปีผ่านไป เกิดอะไรขึ้นถึงทำได้สำเร็จในปีนี้

“ แนวนโยบายผู้บริหารแตกต่างกันไป แต่ผู้บริหารปัจจุบันมีวิสัยทัศน์ที่จะก้าวออกไป และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้น เพราะการจัดงานแต่ละครั้งก็ต้องมองที่ความคุ้มค่า ว่าจัดครั้งหนึ่งแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่ แต่คราวนี้ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐจึงสามารถจัดได้เพราะอยากทำมานาน” คุณธีรภัทรกล่าว

 

 

Boy Love ดึงต่างชาติสนใจเข้ามาเลือกซื้อลิขสิทธิ์ 

นอกจากนโยบายของผู้บริหารและการสนับสนุนจากภาครัฐแล้ว จะพบว่าเนื้อหาของหนังสือไทยดึงดูดต่างชาติเข้ามาด้วยเช่นกัน  สำหรับบริษัทต่างประเทศ 34 บริษัทที่เข้ามานั้นส่วนใหญ่มาจากประเทศไต้หวันและจีน  สิ่งที่น่าสนใจคือสำหรับประเทศไต้หวันเจาะจงมาหาหนังสือแนววาย (Boy Love) แสดงให้เห็นว่าตลาดหนังสือแนวนี้ของไทยได้รับความสนใจจากต่างชาติเป็นอย่างมาก

“ หนังสือไทยที่ขายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศได้นั้นที่ผ่านมาเป็นหนังสือเด็ก แล้วก็ที่ทุกคนอาจคิดไม่ถึงคือหนังสือเรียนภาษาไทยซึ่งสามารถขายได้ตลอด และแน่นอนว่าแนว Boy Love หรือหนังสือวายเป็นตลาดใหญ่มาก” คุณธีรภัทรให้ข้อมูล

 

ทำไม 51 ปีผ่านไป ไทยเพิ่งจัดซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือให้ต่างประเทศ!

 

นอกจากนี้ยังมีองค์กรที่น่าสนใจทั้งจากอิหร่านและตุรกี ได้มอบทุนที่เรียกว่า Translation Grants คือ การที่รัฐบาลของประเทศที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ให้ทุนการแปลภาษาให้แก่บริษัทที่ซื้อลิขสิทธิ์หนังสือของประเทศตนเอง ซึ่งประเทศไทยก็พยายามผลักดันให้รัฐบาลไทยสนับสนุนในลักษณะดังกล่าวเช่นกัน

ส่วนตลาดหนังสืออาเซียนก็มีความสนใจในตลาดหนังสือไทยไม่น้อย โดยทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสืออาเซียนได้เชื้อเชิญสมาชิกจากทุกประเทศเดินทางมาร่วมงานในครั้งนี้ ซึ่งคุณธีรภัทรมองว่า เพราะไทยเปิดกว้างในด้านการพิมพ์และการแสดงออกมากที่สุด หากเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน เช่น ประเทศเวียดนาม เป็นประเทศที่มีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งสำนักพิมพ์เป็นสำนักพิมพ์ของรัฐ ในขณะที่ร้านขายหนังสือเป็นเอกชน ส่วนประเทศอินโดนิเซียก็ยังมีวัฒนธรรมในเรื่องของศาสนา ที่มีกฎบางอย่างต้องห้ามและไม่สามารถแสดงออกได้เท่ากับประเทศไทย