posttoday

ถอดรหัส 'พันธุกรรม' ได้แล้ว 27,000 ราย สู่การเป็นฐานข้อมูลใหญ่ที่สุดในไทย!

09 กุมภาพันธ์ 2567

ไทยผ่านครึ่งทางถอดรหัสพันธุกรรมกว่า 27,000 ราย 
เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลยกระดับวงการแพทย์
 เผยความสำเร็จผลักดันการตรวจคัดกรองการกลายพันธุ์ของยีนก่อมะเร็งเต้านมและรังไข่ในผู้ป่วยและ
เครือญาติ ลงในสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสำเร็จ!

KEY

POINTS

ต่อยอดฐานข้อมูลพันธุกรรม ภายใต้ความร่วมมือด้านจีโนมิกส์กับสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ

 

 

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยสามารถดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมของคนไทย ภายใต้โครงการจีโนมิกส์ประเทศไทย ไปกว่า 27,000 รายแล้ว ซึ่งถือเป็นฐานข้อมูลพันธุกรรมคนไทยขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่พร้อมจะนำไปใช้ร่วมกับข้อมูลสุขภาพ เพื่อยกระดับการให้บริการด้านสุขภาพของประเทศ ก้าวไปสู่การแพทย์สมัยใหม่

ทั้งนี้จากความร่วมมือในบันทึกความเข้าใจฯ จะเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยในด้านวิชาการ ทั้งการวิจัย การพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์จีโนมิกส์ ตลอดจนด้านเทคโนโลยีจีโนมิกส์ เนื่องจากจีโนมิกส์ในสหราชอาณาจักรได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติในด้านที่สามารถผลักดันให้เทคโนโลยีนวัตกรรมด้านการแพทย์จีโนมิกส์เกิดการใช้งานในระบบสุขภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านกระบวนการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เช่น มีแหล่งข้อมูลพันธุกรรมและข้อมูลทางคลินิกที่เปิดให้นักวิจัยทั่วโลกสามารถเข้าถึงและนำไปใช้สำหรับการวิจัยเชิงลึกเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรม เป็นต้น

ทั้งนี้ ความก้าวหน้าจากความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ ในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา มีการดำเนินงานด้านจีโนมิกส์ภายใต้ร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับสหราชอาณาจักร ได้แก่ การประชุมคณะทำงานด้านความร่วมมือ ระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทย ครั้งที่ 1 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ในเดือนพฤษภาคม 2566 เพื่อแลกเปลี่ยนการดำเนินงาน และหาแนวทางความร่วมมือในด้านการพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์จีโนมิกส์ และระบบบริการการแพทย์จีโนมิกส์ การส่งผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมวิชาการ International Genomics Education and Training Summit ซึ่งจัดโดยสหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2566 เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาความสามารถของบุคลากรทางด้านการแพทย์จีโนมิกส์ รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาและการอบรมด้านจีโนมิกส์  และการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการบริหารจัดการข้อมูลจีโนมขนาดใหญ่ จากประสบการณ์ของสหราชอาณาจักรสู่การปรับใช้ในประเทศไทย ทั้งในด้านการบริหารจัดการข้อมูล การเข้าถึง และการนำไปใช้ประโยชน์จากข้อมูลจีโนมิกส์ประเทศไทย เพื่อการพัฒนามาตรฐานข้อมูลจีโนมของไทยวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรม อีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ

ด้าน นายมาร์ค กูดดิ้ง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สหราชอาณาจักรและประเทศไทย ได้สร้างความร่วมมือเพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกันในด้านจีโนมิกส์ ซึ่งการดำเนินการร่วมกันได้ครบรอบหนึ่งปีแล้ว นับตั้งแต่มีการลงนามความร่วมมือฯ โดยความร่วมมือด้านจีโนมิกส์ของทั้งสองประเทศมีความก้าวหน้าอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้จากที่ประเทศไทยได้มีการผลักดันไปสู่การดำเนินการตรวจคัดกรองมะเร็งบางชนิด ให้เป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเกจการบริการตรวจสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย และมั่นใจว่ายังจะมีข้อเสนออีกมากมายจากโครงการจีโนมิกส์ประเทศไทยที่จะสร้างคุณูปการอื่นๆ ให้เกิดขึ้นในระยะถัดไปจากนี้

“นอกจากความร่วมมือด้านจีโนมิกส์แล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ สหราชอาณาจักร ยังได้มีการจัดตั้งกองทุนความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์นานาชาติ ซึ่งเป็นกองทุนภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี แห่งสหราชอาณาจักร โดยพร้อมสนับสนุนให้หน่วยงานวิจัยและสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยมีส่วนร่วมในกองทุนฯ อย่างเต็มที่ เพื่อใช้ประโยชน์จากความร่วมมือบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศและทรัพยากรมนุษย์ร่วมกัน” เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยกล่าว

นายมาร์ค กูดดิ้ง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย

ผลักดันการพัฒนาการแพทย์จีโนมิกส์ไปสู่อุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ครบวงจร

 

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวในงานฉลองครบรอบ 1 ปี การลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านจีโนมิกส์ ระหว่างสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุขและการดูแลทางสังคม แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ” ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตอังกฤษ โฟร์ซีซั่นส์ เรสซิเดนซ์ กรุงเทพฯ เกี่ยวกับความคืบหน้าด้านการแพทย์จีโนมิกส์ของไทยว่า 

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.ว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ปัจจุบันการแพทย์จีโนมิกส์เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายๆ ประเทศ โดยประเทศต่างๆ ได้นำมาประยุกต์ใช้กับการรักษาที่สำคัญ เช่น โรคมะเร็ง โรคที่วินิจฉัยยาก โรคติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 การแพทย์จีโนมิกส์สามารถนำมาใช้ในการสืบสวนสายพันธุ์ การศึกษาวิวัฒนาการก่อโรคและการกลับมาป่วยซ้ำ ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญในด้านนี้ และสนับสนุนให้มีการถอดรหัสพันธุกรรมชาวไทย จำนวน 50,000 ราย เพื่อใช้เป็นฐานต่อยอดในการให้บริการทางการแพทย์ที่จะมีความแม่นยำเฉพาะบุคคลได้มากยิ่งขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงพร้อมที่จะสนับสนุนการแพทย์จีโนมิกส์เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการให้บริการทางการแพทย์ให้มีความแม่นยำมากขึ้น อันจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น ดังจะเห็นได้ว่า โครงการจีโนมิกส์ไทยแลนด์ สามารถผลักดันผลการศึกษาเรื่องการตรวจคัดกรองการกลายพันธุ์ของยีนก่อมะเร็งเต้านมและรังไข่ในผู้ป่วยและเครือญาติ จนได้รับการบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเปิดให้บริการในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กว่า 80 แห่ง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นมา

“ประเทศไทยมีโอกาสที่จะสามารถพัฒนาการแพทย์จีโนมิกส์ไปสู่อุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ครบวงจร เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ และความต้องการการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงเข้ากับบริการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพได้ ขณะที่ประเทศไทยยังมีศักยภาพของการเป็น Medical Tourism ที่เข้มแข็ง และมีที่ตั้งในศูนย์กลางของภูมิภาค รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์จีโนมิกส์ระดับนานาชาติ ขณะที่ภาครัฐและเอกชนก็มีความสนใจที่จะนำเทคโนโลยีจีโนมิกส์มาใช้ในการให้บริการทางการแพทย์ จึงถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทยที่จะต้องร่วมกันผลักดันและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการส่งเสริมและดูแลสุขภาพ (Medical hub) ในระดับอาเซียนต่อไป” รมช.สธ. กล่าว