posttoday

Meta จ่อติดป้ายกำกับภาพเพื่อแยกแยะระหว่าง 'ภาพจริง' หรือ 'ภาพสร้างโดย AI'

08 กุมภาพันธ์ 2567

Meta จ่อติดป้ายกำกับภาพหรือวิดิโอที่โพสต์ลงแพลตฟอร์มหลัง พัฒนาการของ AI ที่สร้างภาพขึ้นมาได้เนียนจนบางครั้งคิดว่า 'ของจริง' และเกิดปัญหาหลายครั้ง โดยเฉพาะล่าสุดมีการเผยแพร่ข้อความเสียงพูดผ่านโทรศัพท์ของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ไม่ให้ไปเลือกตั้งซึ่งสร้างขึ้นโดย AI

จากการที่ AI พัฒนาไปมากและถูกนำมาใช้งานได้หลากหลายขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะการสร้างภาพ เสียงที่มาจาก AI ซึ่งเนียนจนแยกไม่ถูกว่าภาพไหนจริงหรือปลอม

ล่าสุด Meta ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่อย่าง Facebook และ Instagram ระบุว่ากำลังจ่อใช้มาตรการติดป้ายกำกับว่าภาพไหนเป็นภาพจริงและ AI โดยเฉพาะภาพจากบริษัทที่เป็นผู้ให้บริการ AI อย่าง OpenAI, Google, Microsoft , Adobe, Midjourney และ Shutterstock หากมีภาพไหนที่สร้างขึ้นจากหนึ่งบริษัทดังกล่างจะถูกติดลายน้ำ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีข้อตกลงร่วมกันตามข้อตกลง Partnership on AI (PAI) ทำให้สามารถตรวจสอบที่มาของภาพได้

Meta จ่อติดป้ายกำกับภาพเพื่อแยกแยะระหว่าง \'ภาพจริง\' หรือ \'ภาพสร้างโดย AI\'

โดยภาพที่ถูกสร้างด้วย AI เมื่ออัปโหลดจะถูกตรวจสอบ หากสร้างด้วย AI จะปรากฎลายน้ำลงในรูปภาพ ทั้งแบบลายน้ำปกติ และลายน้ำในรายละเอียดไฟล์ (Metadata) เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดว่าภาพเหล่านั้นเป็นภาพจริงนั่นเอง

สำหรับบริการดังกล่าวในช่วงเริ่มต้นจะยังไม่ครอบคลุมการอัพโหลดเสียงและวิดิโอ และจะมีการปล่อยให้ใช้งานได้จริงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ กรณีของการใช้ AI ล่าสุดเพื่อสร้างเนื้อหาหลอกและส่งผลกระทบคือจากกรณีที่มีผู้ใช้งาน เผยแพร่คลิปเสียงปลอมของประธานาธิบดีโจไบเดนที่มีเนื้อหาเชิญชวนให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ไม่ออกไปร่วมลงคะแนนเสียงในช่วงการเลือกตั้งผู้สมัครรอบแรก จนสร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง

อย่างไรก็ตามทาง Meta กล่าวว่า แม้บริการดังกล่าวจะไม่สามารถครอบคลุมการทำเนื้อหาหลอกจาก AI ได้ทั้งหมดแต่จะมีการพัฒนาไปในอนาคตอย่างแน่นอน รวมไปถึงผู้ใช้งานเองก็ควรจะตรวจสอบแหล่งที่มาของภาพและเสียงว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ด้วยตัวเองด้วย และแม้ว่าจะมีผู้ใช้ AI สร้างเนื้อหาที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง และเกิดปัญหาดังกล่าว แต่ประโยชน์ของ AI ก็มีอยู่มากมาย โดย Meta ได้นำ AI มาใช้ในการตรวจหาเนื้อหาที่แสดงถึงความเกลียดชังหรือละเมิดผู้อื่นจนเหลือแค่เพียงร้อยละ 0.01-0.02 ในปี 2023 ในแพลตฟอร์ม Facebook หรือพูดได้ว่าทุก 10,000 โพสต์จะมีข้อความละเมิดหรือส่อถึงความเกลียดชังแค่ 1-3 โพสต์เท่านั้นคือผลสำเร็จของการใช้ AI