posttoday

เปิดภาพสนามบินใหม่ภูฏาน สวยติดแกลม พัฒนา ‘เกเลพู’ เมืองแห่งสติ

13 มีนาคม 2568

ภูฏานกำลังพัฒนาโครงการ “เกเลพู” เมืองแห่งสติ เมกะโปรเจกต์ที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจด้วยความสุขและจิตวิญญาณ ตั้งเป้าเป็นเมืองคาร์บอนติดลบแห่งแรกของโลก

“เกเลพู” เมืองแห่งสติ (Gelephu Mindfulness City - GMC) ตั้งอยู่ใกล้ชายแดนอินเดีย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1,000 ตารางกิโลเมตร (มีขนาดใหญ่กว่าสิงคโปร์)

 

GMC เป็นวิสัยทัศน์ที่เกิดจากความปรารถนาของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏานที่จะสร้างเมืองที่มีองค์ประกอบครบถ้วน และพัฒนาให้เป็นเขตบริหารพิเศษ ทำให้ GMC เป็นอิสระและแตกต่างจากส่วนอื่น ๆ ของประเทศ โดย GMC จะบริหารงานโดยหน่วยงานซึ่งเป็นอิสระจากรัฐบาลแผ่นดินใหญ่ และจะบริหารงานโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากทั่วโลก

 

มากกว่านั้น GMC ถูกออกแบบให้เป็นเมืองที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าเป็นเมืองคาร์บอนติดลบแห่งแรกของโลก ส่วนการออกแบบสถาปัตยกรรมของเมืองจะผสมผสานมรดกทางวัฒนธรรมของภูฏานเข้ากับความทันสมัย มุ่งเน้นความสุข ความเป็นอยู่ที่ดี และความมีสติของผู้คนในแบบปรัชญาตะวันออก นอกจากนี้ เมืองยังมีการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนวิถีของความยั่งยืน  

 

ภาพแบบสนามบินนานาชาติเกเลพูของภูฏาน / เครดิตภาพ archdaily.com

 

ในด้านการคมนาคม ภูฏานกำลังพัฒนาสนามบินนานาชาติในเมืองเกเลพู เพื่อรองรับการเติบโตของนักท่องเที่ยวและการขนส่งระหว่างประเทศ สนามบินนี้จะมีการออกแบบที่สอดคล้องกับแนวคิดความยั่งยืนของเมือง โดยใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนใช้ระบบขนส่งที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การใช้ยานพาหนะไฟฟ้าและการส่งเสริมการเดินทางด้วยจักรยานและการเดินเท้า

 

สนามบินนานาชาติเกเลพู(Gelephu) ของภูฏาน / เครดิตภาพ archdaily.com

 

การพัฒนาเมืองเกเลพูและสนามบินนานาชาติในภูฏานนี้ เป็นตัวอย่างของการนำแนวคิดความยั่งยืนและการรักษาสิ่งแวดล้อมมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness - GNH) ที่ภูฏานยึดถือเสมอมา

 

เปิดภาพสนามบินใหม่ภูฏาน สวยติดแกลม พัฒนา ‘เกเลพู’ เมืองแห่งสติ


 

สนามบินนานาชาติเกเลพู(Gelephu) ของภูฏาน 

ตั้งอยู่ในเขต Sarpang ใกล้ชายแดนอินเดีย เป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่สองของประเทศต่อจากพาโร มีพื้นที่ 65,000 ตารางเมตร รองรับได้ 123 เที่ยวบินต่อวัน และคาดว่าจะต้อนรับผู้โดยสารได้ 5.5 ล้านคนในปี 2065

 

การออกแบบและสถาปัตยกรรม

สนามบินนี้ออกแบบโดย Bjarke Ingels Group (BIG) บริษัทสถาปัตยกรรมชื่อดังระดับโลก เจ้าของคือสถาปนิกชื่อดังชาวเดนมาร์ก บียาร์เก้ อิงเกลส์ (Bjarke Ingels) บริษัทมีสำนักงานใหญ่อยู่ในโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก และนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา BIG เป็นที่รู้จักในด้านการออกแบบที่สร้างสรรค์และนวัตกรรม ซึ่งผสมผสานสถาปัตยกรรมเข้ากับเทคโนโลยีและความยั่งยืน

 

จุดเด่นที่สร้างความตื่นตะลึงให้ผู้พบเห็นคือ โครงสร้างของสนามบินเกเลพูที่ใช้โครงสร้างไม้ประกบ (Glulam) แบบท้องถิ่นภูฏาน ซึ่งใช้ในการสร้างบ้านเรือนทั่วไปจนเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสถาปัตยกรรมแบบชาวหิมาลัย  เป็นวัสดุที่ให้ทั้งความแข็งแรงและยั่งยืน โครงสร้างดังกล่าวถูกออกแบบให้มีความยืดหยุ่น สามารถแยกชิ้นส่วนได้ง่าย เพื่อรองรับการขยายตัวในอนาคต

 

เปิดภาพสนามบินใหม่ภูฏาน สวยติดแกลม พัฒนา ‘เกเลพู’ เมืองแห่งสติ

 

ดีไซน์ของสนามบินสะท้อนถึงภาพของเทือกเขาหิมาลัยที่ทอดยาวสูงต่ำลดหลั่นกันไป โดดเด่นและงามสง่าด้วยเอกลักษณ์ของงานไม้ท่ามกลางป่ากึ่งเขตร้อนและภูเขาใกล้ชายแดนภูฏาน-อินเดียและแม่น้ำไพธา

 

เอกลักษณ์สำคัญของสถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายในมาจากงานแกะสลักไม้ที่ซับซ้อนมากด้วยรายละเอียด มีที่มาจากเสาหลัก “Kachen” ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในสถาปัตยกรรมและศิลปะภูฏาน นอกจากนี้ยังเน้นเทคนิคดั้งเดิม เช่น Shing-Zo (ช่างไม้), Par-Zo (งานแกะสลัก) และ Lha-Zo (ภาพวาด)

 

เปิดภาพสนามบินใหม่ภูฏาน สวยติดแกลม พัฒนา ‘เกเลพู’ เมืองแห่งสติ

 

การออกแบบที่เหมาะกับสภาพอากาศ

เห็นได้ชัดว่า การออกแบบสนามบินเกเลพูได้รับแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของภูฏาน โดยมีคุณสมบัติเช่น หลังคาระบายอากาศ ลานกว้างภายในอาคาร และชายคาที่ยื่นออกมา เพื่อปรับให้เข้ากับสภาพอากาศกึ่งเขตร้อนของภูฏานตอนใต้ และเสริมการไหลเวียนของอากาศตามธรรมชาติ นอกจากนี้ หลังคาของสนามบินยังติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อสนับสนุนความมุ่งมั่นของภูฏานในการรักษาสถานะคาร์บอนเป็นศูนย์

 

โครงสร้างไม้ประกบ (Glulam) แบบท้องถิ่น เอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมแบบภูฏาน

 

การจัดพื้นที่ภายในที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้ใช้งาน

อาคารผู้โดยสารภายในประเทศอยู่ทางทิศตะวันตก ส่วนอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศอยู่ทางทิศตะวันออก ภายในสนามบินแบ่งพลาซ่าออกเป็น 4 โซน มีพื้นที่นั่งเล่นแบบกึ่งกลางแจ้ง (Semi-Outdoor) และลาน “Forest Spine” ซึ่งมีสกายไลท์และหน้าต่างสูงจากพื้นจรดเพดาน เพื่อให้นักเดินทางได้สัมผัสกับแสงธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สำหรับฝึกสติ เช่น โยคะ การอาบน้ำฆ้อง และการทำสมาธิ

 

สนามบินให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้ใช้งาน โดยเน้นเส้นทางที่ไม่ซับซ้อน มีป้ายบอกทางชัดเจน และการไหลเวียนของผู้โดยสารที่ออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน

 

การออกแบบสนามบินนานาชาติเกเลพูนี้จึงไม่เพียงแค่สะท้อนถึงวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของภูฏาน แต่ยังผสานเทคโนโลยีและแนวคิดด้านความยั่งยืนไว้อย่างดีเยี่ยม เพื่อสร้างประสบการณ์การเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและตอบสนองต่อความต้องการของผู้โดยสารในอนาคต เป็นไปตามเทรนด์ของผู้คนยุคใหม่ที่ให้ความใส่ใจต่อสภาพแวดล้อมและคำนึงถึงปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศโลกอย่างจริงจัง

 

 

อ้างอิงภาพและข้อมูลจาก www.archdaily.com

https://big.dk/projects/gelephu-international-airport-20769