"EEC" เดินหน้า รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พลิกโฉม "เมืองอัจฉริยะ"
จุฬา เลขาอีอีซี ลุยปั้นโครงสร้างพื้นฐาน เดินหน้าพัฒนา Smart City ในพื้นที่ EEC หวังดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเป้าหมาย ยกระดับไทยแข่งขันได้ระดับนานาชาติ
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) กล่าวในงานสัมมนา “THAILAND SMART CITY 2025” ภายใต้หัวข้อ “Smart city เทคโนโลยีในเมืองอัจฉริยะ” ซึ่งจัดโดยสำนักข่าวโพสต์ทูเดย์ สปริงนิวส์ และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ว่า การเดินหน้าสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ Smart City ของอีอีซี ถือเป็นโอกาสที่จะยกระดับประเทศไทยให้สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติ
โดยเฉพาะการสร้างองค์ประกอบเพื่อดึงดูดนักลงทุนในโครงการอีอีซี ทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย โดยวัตถุประสงค์การตั้ง อีอีซี มีอยู่ 5 ข้อ คือ การดึงอุตสาหกรรมใหม่เข้ามาทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงได้ โจทย์ใหญ่ คือ
1.ดึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยาก 2.การบริการภาครัฐ คือเปิดช่องให้อีอีซี สามารถบริหารจัดการได้ด้านกฎหมายได้แบบเบ็ดเสร็จ เช่นเดียวกับต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ 3.การเตรียมโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือสาธารณูปโภคเพื่อให้เกิดการลงทุน เช่น ท่าเรือ รถไฟ
4.การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ ทำอย่างไรให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมที่นำมาลงได้
5.ทำให้คนกับอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกันได้ การมีเมืองที่รองรับอุตสาหกรรม S-Curve ที่กำลังจะเกิดขึ้น
หลักการหนึ่งของประเทศที่ทำอีอีซีประสบความสำเร็จคือ เขามีการดีไซน์ วิธีการบริหารภาครัฐแบบใหม่ คือดึงกฎหมาย 14 ฉบับ ให้อำนาจเลขาอีอีซี หรือคณะกรรมการฯในการอนุญาต อนุมัติ โครงการต่างได้ เพื่อสามารถดึงเงินลงทุนให้เกิดขึ้นได้เร็ว เช่น คนตัดสินใจลงทุน สร้างอาคาร อีอีซีจะเป็นฝ่ายจัดการให้โดยไม่ต้องวิ่งไปหาหน่วยงานรัฐ แต่ก็ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นโจทย์ที่ทำได้ยาก แต่เราก็อยากให้มันเกิดขึ้น
ซึ่งในการดำเนินงาน ในอีอีซี ได้กำหนดดึงการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรม เพื่อดึงนักลงทุน 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มการแพทย์และสุขภาพ 2.กลุ่มดิจิทัล และอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ 3.กลุ่มยานยนต์ 4.กลุ่มอุตสาหกรรมสีเขียว เศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG) และ5.กลุ่มภาคบริการต่างๆ
นี่คือโจทย์ของภาคอุตสาหกรรมใหม่ที่อีอีซีจะดูแล ดังนั้นนักลงทุนที่คิดจะใช้สิทธิประโยชน์จากการลงทุนในอีอีซีที่ให้ดูตามนี้ได้ ซึ่งจากข้อมูล พบว่า มีปริมาณการลงทุนในอีอีซีมากที่สุดคือ BCG รองลงมาคือ ภาคบริการ
สำหรับการให้สิทธิประโยชน์ของอีอีซี คือ เราจะพิจารณาให้เป็นรายโครงการ โดยจะมีการต่อรองว่าจะมีการลงทุนในกลุ่มใด ใครให้ประโยชน์กับประเทศเยอะ เราจะมีการยกเว้นภาษีต่างกันไป โดยจะประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และสามารถประการได้เร็วที่สุด เพราะอยากดึงเม็ดเงินการลงทุนให้มากที่สุด
ส่วนเรื่อง BCG ที่ อีอีซีดำเนินการอยู่ โดยเราจะเน้นกลุ่มหลัก เช่น อาหาร เกษตร เชื้อเพลิง พลังงาน การจัดการของเสีย ซึ่งคาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าจะเป็นเทรนอุตสาหกรรม หน่วยงานหรืออุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีการปฏิรูปธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อสามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้
ส่วนแผนที่อีอีซีกำลังเข้าไปดำเนินการโปรเจ็กต์ใหญ่ อาทิ ท่าเรือ , ขยายสนามบินอู่ตะเภา รวมทั้งพัฒนาให้เป็นมากกว่าสนามบิน และพัฒนาให้เป็นพื้นที่หรือเมืองปลอดภาษี,โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) , ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นโปรเจ็กต์ เพื่อเปิดประตูอีอีซี เพื่อให้เห็นว่าอีอีซี เป็นเมืองที่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนใหม่
อย่างไรก็ตามสำหรับปัจจัยที่จะบอกว่า นักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์จากอีอีซี หลักๆคือ อุตสาหกรรมที่ไทยยังขาด หรือเป็นอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดการลงทุนตามมา แม้เม็ดเงินลงทุนจะไม่มาก ก็ตาม รวมถึงสิ่งแวดล้อม ชุมชนมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ต้องเป็นอุตสาหกรรมที่นำคนเข้าลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งเราก็จะให้คะแนนกับกลุ่มนี้ก่อน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้ามาพัฒนาประเทศและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยได้
การทำเมือง สมาร์ทซิตี้ เรากำลังออกแบบเพื่อดึงให้คนสนใจมาลงทุน มาอยู่พัฒนาประเทศ ทั้งหมดเพื่อให้เกิดความเป็นเมืองอัจริยะ และประเทศไทย เพื่อให้เกิดการแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ