posttoday

เกิดอะไรขึ้นเมื่อรัฐแคลิฟอร์เนียผลิตพลังแสงอาทิตย์เกินความต้องการ?

18 กรกฎาคม 2567

รัฐแคลิฟอร์เนียกำลังประสบปัญหาการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์เกินกว่าความต้องการ เกือบ 2.6 ล้านเมกะวัตต์-ชั่วโมง (MWh) เป็นจำนวนที่สามารถจะจ่ายไฟให้กับบ้านทั้งหมดในรัฐซานฟรานซิสโกเป็นเวลาหนึ่งปี เกิดอะไรขึ้น?

KEY

POINTS

  • รัฐแคลิฟอร์เนียสูญเสียพลังงานหมุนเวียนไปแล้วเกือบ 2.6 ล้านเมกะวัตต์-ชั่วโมง (MWh) ส่วนใหญ่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวนนี้เพียงพอที่จะจ่ายไฟให้กับบ้านทั้งหมดในรัฐซานฟรานซิสโกเป็นเวลาหนึ่งปี
  • เพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ รัฐจึงใช้ประโยชน์จากระบบเชื่อมต่อการส่งพลังงานไฟฟ้า (Transmission Line) ที่มีอยู่มากมาย โดยส่งออกพลังงานไปยังรัฐอื่นๆ ในภาคตะวันตกของสหรัฐฯ 

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์มีปริมาณมากกว่าความต้องการใช้งาน เราเรียกว่า “Duck Curve” (Figure 1) หรือเส้นโค้งรูปเป็ด ช่วงเวลาที่เส้นโค้งบริเวณท้องของเป็ดเด่นชัดที่สุดคือช่วงเวลาที่การผลิตพลังงานแสงอาทิตย์เกินความต้องการใช้งาน เนื่องจากพลังงานแสงอาทิตย์พึ่งพาดวงอาทิตย์ เส้นโค้งนี้จึงเด่นชัดที่สุดในวันที่มีแดดจัดช่วงฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นช่วงที่ปริมาณการใช้พลังงานลดลงเนื่องจากไม่มีการใช้เครื่องปรับอากาศมากนัก


 

Figure: Duck Curve California 2024 (เมื่อเส้นกราฟที่ท้องเป็ดต่ำลงหมายถึงการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่มากขึ้นในระบบ)


ในปัจจุบัน รัฐแคลิฟอร์เนียมีพลังงานแสงอาทิตย์มากเกินกว่าที่จะใช้งานได้ เพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ รัฐจึงใช้ประโยชน์จากระบบเชื่อมต่อการส่งพลังงานไฟฟ้า (Transmission Line) ที่มีอยู่มากมาย โดยส่งออกพลังงานไปยังรัฐอื่นๆ ในภาคตะวันตกของสหรัฐฯ ในบางครั้งที่สถานการณ์เลวร้ายมาก จึงจำเป็นต้องลดการผลิตพลังงานลงหรือปิดการผลิตบางส่วน

 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปริมาณพลังงานหมุนเวียนที่ถูกละทิ้งหรือสูญเปล่านั้นเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการผลิตเกินความต้องการและปัญหาความแออัดของระบบสายส่ง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีพลังงานไฟฟ้ามากเกินกว่าสายส่งในบางพื้นที่จะรองรับได้ 

 

จนถึงขณะนี้ในปีนี้ รัฐแคลิฟอร์เนียสูญเสียพลังงานหมุนเวียนไปแล้วเกือบ 2.6 ล้านเมกะวัตต์-ชั่วโมง (MWh) ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวนนี้เพียงพอที่จะจ่ายไฟให้กับบ้านทั้งหมดในรัฐซานฟรานซิสโกเป็นเวลาหนึ่งปี

 

การเพิ่มสายส่งไฟฟ้าจะช่วยเพิ่มการไหลของพลังงานไฟฟ้าทั่วทั้งรัฐ และมีการผลักดันให้มีการปฏิรูปการขออนุญาตให้เกิดขึ้น เพื่อให้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตได้ไม่เสียเปล่าและไม่ได้ใช้ประโยชน์

 

ภายในปีนี้มีจำนวนสูงถึง 100 วันที่รัฐแคลิฟอร์เนียผลิตพลังงานสะอาดจาก Solar Cell เกินความต้องการใช้งานถึง 100% ซึ่งไม่มีรัฐอื่นใดในสหรัฐอเมริกาที่สามารถผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้ใกล้เคียงกับรัฐแคลิฟอร์เนีย

 

รัฐบาลของผู้ว่าการรัฐ Gavin Newsom ได้ผลักดันให้มีการเพิ่มแบตเตอรี่เพื่อเก็บพลังงานส่วนเกิน (Battery Storage System, BSS) ไว้ใช้งานในช่วงเวลาที่มีความต้องการสูง (เช่น ช่วงเวลากลางคืน) นอกจากนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานสาธารณูปโภคของแคลิฟอร์เนีย (California Public Utilities Commission) ได้ดำเนินการนโยบายที่กำลังเป็นที่ถกเถียงเป็นอย่างมาก คือ การลดแรงจูงใจทางการเงิน (Financial Incentives) สำหรับเจ้าของบ้านที่ต้องการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์อย่างรุนแรง

 

ตามข้อมูลของสมาคมพลังงานแสงอาทิตย์และการกักเก็บพลังงานแห่งแคลิฟอร์เนีย (California Solar and Storage Association) สถิติการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับที่อยู่อาศัย (Solar Rooftop) ลดลงถึง 66% ในไตรมาสแรกของปี 2024 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2022 โดยทางสมาคมฯมีการคาดการณ์ว่าหลังจากรัฐเปลี่ยนโครงสร้างแรงจูงใจที่เรียกว่าการคำนวณพลังงานแสงอาทิตย์แบบสุทธิ (Net Metering Scheme) ส่งผลให้งานในภาคพลังงานสีเขียว (Green Jobs)หายไปถึง 17,000 ตำแหน่งทั่วทั้งรัฐ การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้คนในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาไม่พอใจเป็นอย่างมาก ยอดการขายแผงโซลาร์เซลล์ตกต่ำลง เพราะไม่มีใครต้องการอีกต่อไปเนื่องจากไม่มีความคุ้มค่าในการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์อีกต่อไป

 

เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ากับแรงจูงใจใหม่ของรัฐ เจ้าของบ้านจำเป็นต้องติดตั้งแบตเตอรี่เพิ่มเติมจากแผงโซลาร์เซลล์ แต่ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมนี้อาจสูงถึง 10,000 ถึง 20,000 ดอลลาร์หรือมากกว่า นี่เป็นการแก้ไขที่ง่ายแต่มีค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากภาคประชาชนไม่ต้องการ หรือติดตั้งแบตเตอรี่ไม่ได้เพราะราคาแพง ทำให้ระยะเวลาคุ้มทุนยาวนานขึ้น ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

 

นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อรัฐที่มีสัดส่วนพลังงานทดแทนสูงมากอย่างแคลิฟอร์เนีย มุ่งมั่นในการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดอย่างเต็มที่ด้วยเป้าหมายที่จะบรรลุพลังงานสะอาด 100% ภายในปี 2045 สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือความท้าทายใหม่ๆอย่างเช่น การผลิตพลังงานทดแทนมากเกินความต้องการอาจส่งผลให้ระบบอื่นๆเช่น ระบบสายส่งไฟฟ้า หรือตลาดอุปกรณ์แผงโซล่าเซลส์ในภาคธุรกิจ ได้รับผลกระทบไปด้วย บทเรียนของรัฐแคลิฟอร์เนียจึงสามารถเป็นแบบอย่างให้กับเมืองอื่นๆที่กำลังมุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด 100% ในด้านการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความท้าทายต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

 

 

ดร.ณัทกฤช อภิภูชยะกุล  ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร