รฟม.เผยความคืบหน้า ‘รถไฟฟ้าสายสีชมพู’ ส่วนต่อขยายเข้า ‘เมืองทอง’ เปิดปี 68
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เผยภาพความคืบหน้างานโยธาก่อสร้าง “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” ส่วนต่อขยาย สถานีศรีรัช – เมืองทองธานี ซึ่ง รฟม.ตั้งเป้าจะเปิดให้บริการภายในปี 2568
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เผยสถานะล่าสุดในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าภาพรวมมีความก้าวหน้า 60.24% แบ่งเป็น ความก้าวหน้างานโยธา 66.90% และความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 47.12% ซึ่งเป้าหมายโครงการนี้ รฟม.ตั้งเป้าจะเปิดให้บริการภายในปี 2568
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี ดำเนินการโดยบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR JV consortium) ที่ร่วมทุนกันระหว่างบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTSG) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC) และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งกลุ่ม BSR เป็นผู้ลงทุนดำเนินโครงการทั้งหมดภายใต้งบ 4,072.60 ล้านบาท แบ่งเป็น
- ค่างานที่เกี่ยวข้องกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 656.20 ล้านบาท
- ค่าก่อสร้างงานโยธา 1,792.44 ล้านบาท
- ค่างานระบบไฟฟ้า 930.89 ล้านบาท
- ค่าขบวนรถไฟฟ้า 440.00 ล้านบาท
- ค่าจ้างที่ปรึกษา 94.90 ล้านบาท
- ค่าสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 158.17 ล้านบาท
โดยโครงการดังกล่าวเริ่มก่อสร้างในวันที่ 20 มิ.ย.2565 กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 37 เดือน จะสิ้นสุดระยะเวลาก่อสร้างในวันที่ 19 ก.ค.2568 ซึ่งลักษณะงานออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งระยะทาง 3 กิโลเมตร และสถานีรถไฟฟ้า 2 สถานี ประกอบด้วย สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (ชาเลนเจอร์อาคาร1) และ สถานีทะเลสาบ เมืองทองธานี โดยโครงการมีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากถนนแจ้งวัฒนะไปตามซอยแจ้งวัฒนะ - ปากเกร็ด 39 และสิ้นสุดบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี
ทั้งนี้ทางกลุ่ม BSR เคยออกมาประเมินผลบวกต่อการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายนี้ว่า โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีชมพู นับว่าเป็นโครงการสำคัญที่จะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนอย่างมาก เพราะถนนเมืองทองธานีมีผู้อยู่อาศัยจำนวนมากกว่า 3 แสนคน รวมทั้งผู้ที่เดินทางเข้ามาร่วมงานแสดงสินค้าและการประชุมที่มีกว่า 10 ล้านคนต่อปี
พื้นที่เมืองทองธานีจึงถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ มีความจำเป็นในการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าเพื่อรองรับ อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน แก้ปัญหาการจราจรแออัด และจะเป็นโครงข่ายสนับสนุนธุรกิจในพื้นที่นี้ โดยเฉพาะงานจัดประชุมสัมมนา กิจกรรมงานแสดงและคอนเสิร์ตต่างๆ ทั้งนี้ BSR คาดว่าภายหลังเปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีชมพูจะมีปริมาณผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 13,785 คนต่อเที่ยวต่อวัน
นอกจากนี้ รฟม. ยังได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และบรรเทาปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม โดยนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (Hydraulic Cement) ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตต่ำ เข้ามาใช้ทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ (Portland Cement) รูปแบบเดิม โดยเริ่มใช้ในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ก่อนเป็นโครงการแรก ซึ่งผลการดำเนินงาน ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 พบว่า มีปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในการก่อสร้างโครงการฯ ไปแล้วกว่า 135,826.47 ตัน หรือ 24.25% เทียบเท่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ 7,062.976 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า