posttoday

"ปลัดฯ ทส." แนะดัน พ.ร.บ. Climate Change กู้วิกฤตสูญความหลากหลายทางชีวภาพ

11 มีนาคม 2567

"จตุพร บุรุษพัฒน์" ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพน่ากังวลสุด เร่งดัน พ.ร.บ. Climate Change กู้วิกฤต

สปริงนิวส์ เปิดเวที อนาคตประเทศไทย Next Step Thailand 2024 : Tech & Sustain ก้าวต่อไปของนวัตกรรมและความยั่งยืน ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2567 เวลา 12.00 - 16.30 น.

ในช่วง Special Talk : Climate Action Trend 2024 การขับเคลื่อนนโยบาย สู้ภาวะโลกรวน อย่างยั่งยืน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความเห็นว่า

วันนี้โลกของเรามุ่งประเด็นไปที่ 2 เรื่อง ได้แก่ Digital Transformation และ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ข้อมูลจาก World Economic Forum 2024 ชี้ให้เห็นความเสี่ยงในอีก 10 ปี ข้างหน้าว่าการสูญเสียซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพเป็นประเด็นที่น่ากังวลที่สุด

การประชุม COP 26 ซึ่งไทยเราให้คำมั่นไว้ว่าจะมุ่งหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 ก่อนจะก้าวสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero ในภายหลัง แต่นอกจากคำมั่นที่ให้ไว้ สิ่งที่ตามมาคือเรื่องของเทคโนโลยี และกองทุน ซึ่งหากขาด 2 สิ่งนี้ไป จะเป็นไปได้ยากมากที่ไทยจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

ขณะที่การประชุม COP 28 ครั้งล่าสุด ซึ่งสาระสำคัญของการประชุมคือการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน จากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่เชื้อเพลิงที่มีความสะอาดและยั่งยืน ซึ่งไทยเอง เรามีเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ค่อนข้างมาก และกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปี

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เกิน 1% ของโลกต่อปี ซึ่งคำถามที่ตามมาคือ ทำไมเรายังต้องลดการปล่อยก๊าซ? เหตุผลเนื่องจากเมื่อเกิดภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่ติด 1 ใน 10 ว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะเรามีภูมิประเทศที่ติดชายฝั่ง พื้นที่ที่อยู่อาศัยบริเวณนั้นจะเกิดปัญหาจมบาดาลทันที

สิ่งที่เราขาดอยู่ตอนนี้คือการบังคับใช้เชิงกฎหมาย เราอยู่ในรูปแบบความร่วมมือเชิงสมัครใจ ซึ่งการเชิญชวนแต่ละครั้ง ก็ใช่ว่าจะโน้มน้าวได้ง่ายๆ กลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างครอบคลุมทุกมิติ ต้องประกอบด้วย นโยบายที่มีกลไกเชิงสถาบันในการกำกับดูแล มีแหล่งการเงิน การลงทุน มีเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่าน มีกฎหมาย/ระเบียบอย่างชัดเจน รวมถึงร่วมผลักดัน พ.ร.บ. Climate Change และกลไกคาร์บอนโดยอาศัยปัญญาประดิษฐ์ (Ai) มาช่วยคำนวน