posttoday

อัยการคดีพิเศษ สั่งตั้งคณะทำงาน เดินหน้าคดีปั่นหุ้น MORE เสียหาย 4.5 พันล้าน

08 พฤษภาคม 2567

อธิบดีอัยการคดีพิเศษ มีคำสั่งตั้งคณะทำงาน เดินหน้าคดีปั่นหุ้น MORE เสียหาย 4.5 พันล้านบาท หลังรับสำนวนดีเอสไอ เมื่อ2 พ.ค.67 ส่วนคดีแพ่งยื่นศาลฯ ขอริบทรัพย์ กว่า 4.4 พันล้านบาท ศาลฯ นัดสืบพยาน 22 ต.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2567 ที่ผ่านมา นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ มีคำสั่งสำนักงานคดีพิเศษ แต่งตั้งคณะทำงานคดีสำคัญในคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งสำนวนคดีพิเศษ เป็นคดีระหว่าง คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กับพวกรวม 12 รายกล่าวหา กับ นายอภิมุข บำรุงวงศ์ กับพวกรวม 42 คนในข้อหา ร่วมกันกระทำการสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE

และมีลักษณะต่อเนื่องกันโดยมุ่งหมายให้ราคาหลักทรัพย์หรือปริมาณการซื้อขาย หลักทรัพย์นั้นผิดไปจากสภาพปกติของตลาด, ร่วมกันฉ้อโกง, เป็นอั้งยี่ และช่องโจร ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 244/3/และมาตรา 244/5 ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบ มาตรา 83 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และมาตรา 210

เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีสำคัญที่ประชาชนสนใจ สื่อมวลชนเสนอเป็นข่าวใหญ่ และเป็นคดีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ ที่มีมูลค่าทรัพย์สินไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท เพื่อให้การพิจารณาดำเนินคดีดังกล่าวนี้เป็นไปด้วยความรอบคอบ ถูกต้องครบถ้วน จึงมีคำสั่งแต่งตั้ง นายนิรันดร์ นันตาลิตอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 3 เป็นหัวหน้าคณะทำงาน

นายนราธิป ธารากรสันติ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นรองหัวหน้าคณะทำงาน, นายณัฏฐ์ศาสน์ สิทธิชัย อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ เป็นคณะทำงาน, นายเทพประทานพร ทองคลัง อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นคณะทำงาน, นายศุภเศรษฐ์ คงแข็ง อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นคณะทำงานเเละเจ้าขอสำนวนร่วม, นายพงศ์ธรย์ ศิริรัตน์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นเจ้าของสำนวน, นายสมุทร ลีพชรสกุล อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นที่ปรึกษาหัวหน้าคณะทำงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ สำนักงานอัยการคดีพิเศษได้รับสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษที่ 66/2566 คดีระหว่าง คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดย นางวิไลลักษณ์ เจนอนันต์พร ผู้รับมอบอำนาจ กับพวกรวม 12 ราย ผู้กล่าวหา กับ นายอภิมุข บำรุงวงศ์ กับพวกรวม 42 คน ผู้ต้องหา ข้อหาร่วมกันกระทำการสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE 

และมีลักษณะต่อเนื่องกันโดยมุ่งหมายให้ราคาหลักทรัพย์หรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์นั้นผิดไปจากสภาพปกติของตลาด, ร่วมกันฉ้อโกง, เป็นอั้งยี่ และซ่องโจร ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 244/3 และมาตรา 244/5 ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบ มาตรา 83 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และมาตรา 210 เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2567 ที่ผ่านมา เเละมีการรับตัวผู้ต้องหาจนครบเมื่อวันที่ 7 พ.ค.2567 ที่ผ่านมา

พฤติการณ์ในการกระทำความผิด ผู้ต้องหามีพฤติกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE ในลักษณะของการแบ่งหน้าที่กันทำกับบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้ต้องหารายอื่นๆ ในการซื้อขายผลักดันราคาอย่างต่อเนื่อง โดยส่งคำสั่งซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดในขณะนั้น ทำให้ราคาหลักทรัพย์ MORE ปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันสั้น เพื่อให้ผู้ต้องหาอื่นๆ สลับเข้ามาทยอยขายทำกำไรเป็นระยะๆ 

มีการส่งคำสั่งซื้อขายเพื่อให้เกิดการจับคู่ซื้อขายกันเองภายในกลุ่ม อันมีลักษณะต่อเนื่องกัน โดยมุ่งหมายให้ราคาหลักทรัพย์หรือปริมาณการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ MORE ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด อันเป็นการทำให้นักลงทุนรายอื่นหรือบุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ โดยเฉพาะการที่ผู้ต้องหาขายหลักทรัพย์ MORE ที่มีอยู่ทั้งหมดในบัญชี ผ่านบริษัท อาร์เอชบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ปริมาณจำนวนหุ้นรวม 6,500,000 หุ้น สั่งขายที่ราคา 2.90 บาท รวมมูลค่า 18,850,000 บาท 

และเกิดการจับคู่ซื้อขายกับคำสั่งซื้อขายของผู้ต้องหาที่ 1 ที่ได้ส่งคำสั่งซื้อไว้ล่วงหน้า โดยเกิดการจับคู่ซื้อขายกันเมื่อตลาดหลักทรัพย์เปิดทำการ ซึ่งเป็นการส่งคำสั่งขายในช่วงระยะเวลาก่อนที่ตลาดหลักทรัพย์เปิดทำการ เพื่อให้เกิดการจับคู่ซื้อขายทันทีเมื่อตลาดหลักทรัพย์เปิดทำการ ซึ่งผิดปกติวิสัยของนักลงทุนทั่วไป

จากพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้ต้องหาหรือบุคคล ซึ่งทำการส่งคำสั่งขายหุ้นในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้ต้องหาล่วงรู้ถึงแผนการ ขั้นตอน วิธีการ และทราบข้อมูลเป็นอย่างดีว่าบัญชี ซื้อขายของผู้ต้องหาที่ 1 ทำการสั่งซื้อหุ้นไว้ล่วงหน้าเป็นปริมาณมาก และจะเกิดการจับคู่ซื้อขายกับคำสั่งขายของผู้ต้องหาทันทีเมื่อตลาดหลักทรัพย์เปิดทำการ อันเป็นการส่งคำสั่งขายโดยรู้อยู่แล้วว่าตนเองหรือบุคคลอื่นซึ่งร่วมกระทำการได้สั่งซื้อหลักทรัพย์เดียวกันในจำนวน ราคา และภายในเวลาใกล้เคียงกัน เพื่อให้ได้ไปซึ่งผลประโยชน์จากการกระทำดังกล่าว ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงเป็นวงกว้าง 

การกระทำของผู้ต้องหากับพวก จึงเป็นความผิดฐาน ร่วมกันกระทำการสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขาย และมีลักษณะต่อเนื่อง โดยมุ่งหมายให้ราคาหลักทรัพย์หรือปริมาณการซื้อหรือขายหลักทรัพย์นั้นผิดไปจากสภาพปกติของตลาด และการกระทำดังกล่าวยังเป็นการใช้กลอุบายหลอกลวงบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากบริษัทหลักทรัพย์อันเป็นการฉ้อโกงบริษัทหลักทรัพย์ โดยผู้ต้องหากับพวกมีการรวมกลุ่มพร้อมปกปิดวิธีดำเนินการ โดยมุ่งหมายเพื่อก่อเหตุในการสร้างราคาและปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์และฉ้อโกง อีกทั้งยังเป็นการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดดังกล่าว 

ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่  หนึ่งปีขึ้นไป อันมีลักษณะเป็นอั้งยี่และซ่องโจรมูลค่าความเสียหาย 4,507,107,214.11 บาท คดีนี้เป็นคดีสำคัญที่ประชาชนสนใจ สื่อมวลชนเสนอเป็นข่าวใหญ่ และเป็นคดีนโยบายของรัฐ กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ

นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ จึงดำเนินการพิจารณาตรวจสำนวน และมีคำสั่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณา เพื่อดำเนินการต่อไป สำหรับคดีที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้ส่งให้พนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ดำเนินการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดรายนายอภิมุข บำรุงวงศ์ กับพวกตกเป็นของแผ่นดิน รวมจำนวน 59 รายการ รวมจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 4,470,877,185.15 บาท พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 2 ได้ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งไปแล้ว เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2566 ซึ่งศาลได้นัดสืบพยานในวันที่ 22 ต.ค.2567