posttoday

นักสะสม แห่งรัชกาลที่ 9

05 กันยายน 2560

กระแสของประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ แห่จองเหรียญที่ระลึกทองคำ เงิน และทองแดงรมดำพ่นทราย ของกรมธนารักษ์

กระแสของประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ แห่จองเหรียญที่ระลึกทองคำ เงิน และทองแดงรมดำพ่นทราย ของกรมธนารักษ์ ในโอกาสการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จนต้องมีการผลิตเพิ่มเพื่อให้ได้รับตามความต้องการอย่างทั่วถึง

ในอีกด้าน ก่อนหน้านั้นก็มีการเปิดตัวตราไปรษณียากร ชุดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย ที่จัดพิมพ์ 3 ล้านชุด ให้ผู้สนใจสั่งจองล่วงหน้าได้

โดยแสตมป์ รัชกาลที่ 9 ชุดดังกล่าวมีจำนวนรวม 3 แผ่น ประกอบด้วย แผ่นที่ 1 ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ ขณะทรงแย้มพระสรวล 9 ภาพ แผ่นที่ 2 ภาพเครื่องประกอบสำคัญ อันได้แก่ พระบรมโกศ พระยานมาศสามลำคาน และพระมหาพิชัยราชรถ ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พื้นหลังเป็นภาพพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพ และแผ่นที่ 3 ภาพพระเมรุมาศ ประกอบกับภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่พสกนิกรร่วมจุดเทียน และร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ณ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2559 รวมทั้งหมด 13 ภาพ 13 ดวง ราคาชุดละ 99 บาท และซองวันแรกจำหน่าย ราคาชุดละ 142 บาท จำนวนทั้งสิ้น 3 ล้านชุด โดยในจำนวนนี้สำรองไว้ 1.2 ล้านชุด 

นักสะสม แห่งรัชกาลที่ 9

การสะสมธนบัตร เหรียญกษาปณ์ และดวงตราไปรษณียากรหรือแสตมป์ ไม่เพียงเป็นงานอดิเรกที่ให้คุณค่าทางใจ และเป็นวัตถุที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เมื่อยุคสมัยได้เปลี่ยนผ่านเดินทางไปข้างหน้าเรื่อยๆ เป็นหลายสิบหลายร้อยปี ของสะสมยิ่งทวีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย

ของเก่าของสะสมประเภทธนบัตร เหรียญกษาปณ์ แสตมป์ ธนบัตร อันดับแรกที่มาก่อนของบรรดานักสะสมหรือคนทั่วไปที่ทำเป็นงานอดิเรก คือ ชื่นชอบและรักด้วยคุณค่าทางด้านจิตใจ มีความผูกพัน และเล็งเห็นถึงคุณค่าทางศิลปะเป็นความสุขความภูมิใจของผู้สะสม ส่วนมูลค่าของเก่าที่สะสมไว้มีราคาสูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ก็เป็นแค่ปัจจัยรองเพียงเท่านั้น

ของสะสมที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 สำหรับปวงชนชาวไทยที่จะแสดงความจงรักภักดี จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตาม เพราะถือเป็นเสมือนการบันทึกจดหมายเหตุหรือประวัติศาสตร์ตลอดรัชสมัยของพระองค์ผ่านของสะสมนั่นเอง

สถานการณ์ล่าสุด

ปัจจุบัน เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนที่ใช้อยู่ในระบบ ยังไม่มีรายงานว่ามีประชาชนเก็บไว้จนกระทบสภาพคล่องของเหรียญ เนื่องจากมีหมุนเวียนมากถึง 2.89 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งกรมธนารักษ์จะผลิตเพิ่ม กรณีมีเหรียญชำรุด หรือหายจากระบบ โดยปีงบประมาณ 2560 ตั้งเป้าผลิตทั้งสิ้น 800 ล้านเหรียญ หรืออาจผลิตเพิ่มขึ้นอีก 20%

ธนบัตรที่ระลึกที่ประชาชนสนใจและบางธนาคารนำออกมาจ่ายแลกช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มี 2 แบบ ได้แก่ ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ 5 ธ.ค. 2554 ชนิด 100 บาท จ่ายแลกราคา 200 บาท พร้อมแผ่นพับ และราคา 500 บาท พร้อมบรรจุภัณฑ์กล่องดนตรี และธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิ.ย. 2559 ราคา 70 บาท จ่ายแลกราคา 100 บาท ที่ผ่านมา ธปท.จัดพิมพ์ทั้งสิ้น 9,999,999 ฉบับ และ 20 ล้านฉบับ ตามลำดับ

รายงานจากไปรษณีย์ไทย (ปณท.) ตราไปรษณียากรและแผ่นชีตที่ระลึกที่เกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ยังเหลืออยู่ในคลังเก็บกลางมีทั้งหมด 8 ชุด จากที่ได้จัดทำขึ้นรวม 70 ชุด (349 แบบพิมพ์) ตลอด 70 ปีแห่งรัชสมัย และแต่ละชุดเหลืออยู่ไม่มาก อาทิ ตราไปรษณียากรที่ระลึก 60 ปี ราชาภิเษกสมรส เหลือ 261 ดวง แผ่นชีตลายทองที่ระลึกกาญจนาภิเษก เหลือ 120 แผ่น ชุดที่ยังเหลือมากที่สุด คือ แผ่นชีตที่ระลึกชุดพระราชอัจฉริยภาพด้านโทรคมนาคม 324,973 แผ่น แต่ละวันมียอดขอเบิกไปจำหน่ายกว่า 5 หมื่นดวง ส่วนที่ยังเหลืออยู่มากเป็นซองที่ระลึกวันแรกจำหน่าย มีทั้งซองที่ออกแบบพิเศษ พร้อมแสตมป์และตราประทับวันแรกจำหน่ายของตราไปรษณียากรชุดนั้นๆ

นักสะสม แห่งรัชกาลที่ 9

ส่วนแสตมป์ที่ใช้ในกิจการ หรือแสตมป์รูปในหลวง ดวงละ 3 บาท ใช้แปะหน้าซองจดหมายทั่วไปไม่เหลือในสต๊อกแล้ว และที่ประชุม ปณท. ยืนยันว่าจะไม่สั่งพิมพ์เพิ่ม เพราะธรรมเนียมปฏิบัติแสตมป์ที่ใช้ในกิจการจะเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์พระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันเท่านั้น ส่วนการเตรียมจัดพิมพ์แสตมป์ใช้ในกิจการชุดใหม่ ต้องรอพระบรมราชานุญาตก่อน จากนั้นใช้เวลา 1-1 ปีครึ่งดำเนินการ

สมชาย แสงเงิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮ๊อบบี้ อินเตอร์เนชั่นแนล นักสะสมผู้เขียนหนังสือ “คู่มือธนบัตรไทย” เคยให้สัมภาษณ์เรื่องการเก็บของสะสมและขอที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร กับสื่อมวลชนไว้ว่า ของมงคลทุกชนิดเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ถ้าเป็นของที่ออกมาในช่วงพิธีใหญ่ เช่น เฉลิมพระชนมพรรษาครบ 3 รอบ 5 รอบ 6 รอบ 7 รอบ หรือ 80 พรรษา ไม่ว่าแบงก์ เหรียญ หรือแสตมป์ คนส่วนใหญ่ต้องการ ปัจจัยถัดมาต้องดูว่าจำนวนผลิตออกมาเท่าไร ยิ่งผลิตออกมาน้อยยิ่งดี ยิ่งผลิตมากราคายิ่งไปยาก และข้อสุดท้าย ให้สังเกตว่าตอนที่เปิดให้สั่งจองมีผู้ให้ความสนใจ สั่งจองกันมากน้อยเพียงใด

สมชาย บอกว่า สิ่งเหล่านี้เปรียบเหมือนเข็มทิศนำทาง สามารถบอกได้คร่าวๆ ว่า ในอนาคตของสะสมชิ้นนั้น ไม่ว่าจะเป็นแบงก์ แสตมป์ หรือเหรียญ ที่เก็บสะสมจะได้รับความนิยมหรือไม่?

ปัจจุบันขอสะสมที่ยอดนิยมมีเหรียญที่ระลึกรุ่นเงินขัดเงา UNDP รางวัลแห่งความสำเร็จ เหรียญที่ระลึก (ขัดเงา) รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม และเหรียญที่ระลึกชุดละ 5 เหรียญ ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554

ส่วนที่กลายเป็นของหายาก เพราะเป็นธนบัตรที่ระลึกที่เปิดให้แลกหมดไปแล้ว คือ ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ธนบัตรที่ระลึกเนื่องในอภิลักขิตสมัยมหามงคลราชาภิเษกสมรสและวันบรมราชาภิเษกครบ 60 ปี 2553 รูปในหลวงคู่พระราชินี บัตรธนาคารเนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 บริบูรณ์ 5 ธันวาคม 2530

ด้านรายงานจากกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า จากที่ได้นำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จัดเป็นชุด เรียกว่า ชุดเหรียญมงคล ชุดละ 5 เหรียญ ชุดละ 100 บาท อำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่สนใจแลกซื้อเก็บไว้เป็นที่ระลึก ได้รับความนิยมมาก โดยชุดเหรียญมงคล ประกอบด้วย

1) เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสที่สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวาย “รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” เพื่อเชิดชูพระอัจฉริยภาพพระปรีชาสามารถด้านการพัฒนาทรัพยากรดินให้เป็นประโยชน์แก่เกษตรกรไทย

2) เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 60 ปี กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

3) เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และเหรียญที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา

4) เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 50 ปี ฝนหลวงพระราชทาน

และ 5) เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกและเหรียญที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 12 ส.ค. 2555

โดยเหรียญที่นำมาจัดชุดนั้น กรมธนารักษ์พิจารณาจากเหรียญที่มีการจัดสร้างไว้ และปัจจุบันยังคงมีอยู่รวม 24 รุ่น ซึ่งคาดว่าเหลือไม่ถึง 1 ล้านเหรียญ จากก่อนหน้านี้มีอยู่ 3-4 ล้านเหรียญ แต่ยังไม่มีการสรุปยอดเหรียญคงเหลือทั้งหมดได้ว่าเหลืออยู่เท่าใด เนื่องจากประชาชนยังทยอยเข้ามาแลกต่อเนื่อง

สำหรับราคาธนบัตรที่ระลึกในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาธนบัตรในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ใช้หมุนเวียนอยู่ในท้องตลาดรุ่นเก่าๆ ที่หมดไปแล้ว ราคาขยับขึ้นด้วย

“เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า...”

เอนก นาวิกมูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ร่วมสมัย นักเขียนสารคดี นักสะสมของเก่า และผู้ก่อตั้งบ้านพิพิธภัณฑ์ บอกว่า ของสะสมหลักที่เป็นที่ระลึกในหลวงรัชกาลที่ 9 มีแสตมป์ เหรียญที่ระลึก ธนบัตร สิ่งพิมพ์ ภาพถ่าย

“ยังไม่นับสิ่งพิมพ์ที่เป็นนิตยสาร หนังสือพิมพ์ต่างๆ สิ่งเหล่านี้จริงๆ แล้วน่าเก็บสะสมทั้งนั้น รวมถึงข่าวในคลิปวิดีโอต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นจดหมายเหตุทั้งนั้น ผมถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องเก็บรักษาไว้หรือเก็บสะสมก็แล้วแต่”

เอนก ย้ำว่า ของทั้งหมดออกมาหลากหลายมาก ซึ่งอาจจะเกินกำลังของใครคนใดคนหนึ่งจะเก็บได้หมด หน่วยงานราชการต่างๆ กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ก็เก็บเฉพาะส่วนที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ไม่มีกองกลางใหญ่ที่จะมาทำหน้าที่ตามเก็บหมดทุกอย่าง

“พิพิธภัณฑ์ของกรมธนารักษ์ พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณ์ กระทรวงการคลัง เขาก็คงไม่มาเก็บสิ่งพิมพ์ เพราะยังไม่มีพิพิธภัณฑ์กลางเกี่ยวกับการเก็บของทั้งหมดที่เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยตรง ที่จริงผมว่าหออัครศิลปิน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ที่คลองห้า น่าจะทำหน้าที่นี้ในการเก็บรวบรวม ผมไม่รู้ว่าเขาวางขอบข่ายในการเก็บรวบรวมหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ในฐานะของสะสมที่เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ไว้มากน้อยแค่ไหน

“ผมอยากเรียกร้องให้รัฐบาลทำหน้าที่ให้เต็มที่ตรงจุดนี้ เพราะเก็บภาษีประชาชนไปแล้ว ส่วนนักสะสมทั่วไปคงทำเท่าที่กำลังจะมี เพราะทุกอย่างมีมูลค่าทั้งนั้น อย่างแสตมป์ในหลวงรัชกาลที่ 9 เอาเข้าจริงๆ ใครจะตามเก็บได้ไหวทั้งหมด ถ้าไม่ใช่นักสะสมแบบมืออาชีพไว้ซื้อขาย ทั้งหมดน่าจะเป็นหน้าที่ของหออัครศิลปิน ซึ่งมีสถานที่พร้อมอยู่แล้ว”

สำหรับการขอให้บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ที่จะมาสนับสนุน เอนก ก็ไม่รู้ว่าจะได้หรือไม่? แต่เท่าที่ทำได้ควรมีเจ้าภาพกลางโดยเฉพาะ ซึ่งควรเป็นหออัครศิลปิน 

“เพราะมีสิ่งของที่เก็บสะสมเยอะมาก อย่าขอรับบริจาคอย่างเดียว มีงบประมาณอยู่ในมือก็ต้องทำให้ครอบคลุมทั้งหมด อยากให้เก็บเป็นช่วงๆ ที่สำคัญในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เห็นเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ แบ่งเป็นช่วงละ 10 ปีก็ได้ เอาแบบที่ออกมาอย่างเป็นทางการขอแต่ละที่ก็ได้ ต้องมีหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบและมีเอกสารที่วิจัยอ้างอิงออกมาให้เป็นระบบรอบด้านครบถ้วน”