posttoday

3 พรรณไม้พระนาม

07 พฤศจิกายน 2559

คุณทราบหรือไม่ว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดล้วนมีชื่อวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์เพื่อป้องกันความผิดพลาดคลาดเคลื่อนที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือสร้างความสับสน

โดย...บ้านและสวน

คุณทราบหรือไม่ว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดล้วนมีชื่อวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์เพื่อป้องกันความผิดพลาดคลาดเคลื่อนที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือสร้างความสับสน ชื่อวิทยาศาสตร์มี 2 คำ คำแรกคือ ชื่อสกุล (Genus) คำที่สองคือ คำระบุชนิด (Species Epithet) เมื่อนักพฤกษศาสตร์ค้นพบพืชชนิดใหม่และมั่นใจว่ายังไม่เคยมีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์มาก่อน  ก็จะต้องตั้งชื่อ โดยนำลักษณะเด่นของพืช แหล่งที่พบ หรือชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องมาตั้งเป็นชื่อสกุลและคำระบุชนิด โดยมีรากศัพท์มาจากภาษาละตินและกรีก โดยเฉพาะการนำชื่อของบุคคลใดก็ตามไปตั้งเป็นชื่อสิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่งนั้นถือเป็นเกียรติสูงสุด เพราะหมายความว่าบุคคลเหล่านั้นจะมีชื่ออันเป็นนิรันดร์ เนื่องจากเมื่อตั้งไปแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อีก หากไม่ผิดหรือซ้ำกับบุคคลอื่น

“พรรณไม้พระนาม” คือพรรณไม้ที่นักพฤกษศาสตร์ค้นพบและศึกษาจนแน่ใจแล้วว่าเป็นชนิดใหม่ของโลกจึงตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ขึ้น โดยนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานพระนามมาเพื่อตั้งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีการตั้งเป็นชื่อพันธุ์ลูกผสมที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์ให้มีความสวยงามแปลกตากว่าเดิม โดยมีการจดทะเบียนตั้งชื่อพันธุ์กับสมาคมหรือชมรมไม้ประดับชนิดนั้นๆ เพื่อป้องกันการตั้งชื่อซ้ำกัน

คนไทยเราเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์มาแต่ครั้งโบราณ การตั้งชื่อเหล่านี้จึงเป็นการเฉลิมพระเกียรติให้คนทั่วโลกได้ตระหนักถึงพระราชกรณียกิจ ทั้งยังมีความเชื่อว่าพรรณไม้พระนามนั้นจะนำมาซึ่งสิริมงคลแก่ผู้ปลูกและผู้ครอบครอง โดยปัจจุบันพบว่ามีพรรณไม้พระนามในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 3 ชนิด ซึ่งขอนำมาแนะนำให้รู้จักกันดังนี้

3 พรรณไม้พระนาม ภูมิพลินทร์

 

ภูมิพลินทร์

เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย สำรวจพบบริเวณแก่งหินปูนที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก และอุทยานแห่งชาติแม่ปิง จ.ลำพูน ค้นพบโดย ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ และเป็นผู้ขอพระราชทานพระนามพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาตั้งเป็นคำระบุชนิด โดยพระราชทานพระนามเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2544 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Paraboea bhumiboliana Triboun & Chuchan

วงศ์ : Gesneriaceae

ฤดูออกดอก : ไม่ทราบแน่ชัด

การปลูกเลี้ยง : เป็นพรรณไม้ที่ยังไม่มีการนำมาปลูกเลี้ยง แต่คาดว่ามีศักยภาพในการพัฒนาเป็นไม้ประดับ

3 พรรณไม้พระนาม ทิวลิปคิงภูมิพล

 

ทิวลิปคิงภูมิพล

ลูกผสมระหว่างพันธุ์ Judith Leyster กับพันธุ์ Prince Claus โดย Klaas Koedijk เจ้าของบริษัท F.A.P. Koedijk & ZN ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นผู้ขอพระราชทานพระนามพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาจดทะเบียนตั้งเป็นชื่อพันธุ์ ด้วยความซาบซึ้งในความจงรักภักดีของชาวไทยที่มีต่อพระองค์ท่านในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีเมื่อปี 2549

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tulipa ‘King Bhumibol’

วงศ์ : Liliaceae

ฤดูออกดอก : เดือน มี.ค.-พ.ค.

การปลูกเลี้ยง : ชอบดินร่วนระบายน้ำดี แสงแดดตลอดวัน อากาศหนาวเย็น ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ใช้เป็นไม้ประดับและไม้ตัดดอก

3 พรรณไม้พระนาม มะลิเฉลิมนรินทร์

 

มะลิเฉลิมนรินทร์

เป็นมะลิพื้นถิ่นเดียวของไทยชนิดใหม่ล่าสุด สำรวจพบโดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น บนเขาหินปูนที่มีความสูง 715 เมตร เหนือระดับทะเลใน จ.เลย เมื่อปี 2552 และได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้ใช้ชื่อนี้ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ ในปี 2554

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Jasminum bhumibolianum Chalermglin

วงศ์ : Oleaceae

ฤดูออกดอก : เดือน ก.ค.-ก.ย.

การปลูกเลี้ยง : ปลูกเป็นไม้กระถางหรือปลูกลงแปลงกลางแจ้งให้เลื้อยไต่ซุ้ม ชอบดินร่วนระบายน้ำดี แต่โตช้า ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและปักชำกิ่ง