posttoday

สัจจะวัสดุ สิ่งที่แฝงในความโมเดิร์น

16 เมษายน 2558

หลังจาก ลุดวิก มีส ฟาน เดอ โรห์ (Ludwig Mies van der Rohe) ปรมาจารย์แห่งโมเดิร์น กล่าวคำว่า “Less is More” หรือน้อยคือมากกว่า

โดย...โยธิน อยู่จงดี

หลังจาก ลุดวิก มีส ฟาน เดอ โรห์ (Ludwig Mies van der Rohe) ปรมาจารย์แห่งโมเดิร์น กล่าวคำว่า “Less is More” หรือน้อยคือมากกว่า ก็ได้กลายมาเป็นคีย์เวิร์ดหรือปรัชญาสำคัญแห่งการเริ่มต้นยุคสถาปัตยกรรมโมเดิร์นที่ล้มล้างสถาปัตยกรรมคลาสสิกดั้งเดิมที่มีมานับพันปีลง และถูกเปลี่ยนด้วยกฎใหม่ 3 ข้อที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมก็คือ 1.ฟังก์ชั่นประโยชน์ใช้สอยสำคัญกว่ารูปลักษณ์สำคัญ 2.การแสดงสัจจะทางโครงสร้าง และข้อสุดท้ายที่เรากำลังพูดถึงคือ การแสดงสัจจะวัสดุแห่งโมเดิร์น

“ความเป็นโมเดิร์นในปัจจุบันมันใช้อย่างค่อนข้างเกร่อ อะไรที่ดูล้ำทันสมัยก็เรียกว่าเป็นโมเดิร์น แต่ถ้าดูในเรื่องปรัชญาแนวคิดแล้วจะต้องจัดอย่างประณีตหลายอย่างในปัจจุบันมีเรื่องความคุ้มทุน แต่ในอดีตจะเน้นเรื่องความงาม เป็นความงามที่เกิดจากเนื้อแท้ของสิ่งที่เราออกแบบอย่างไม่เสแสร้งปิดบัง

สัจจะวัสดุ สิ่งที่แฝงในความโมเดิร์น

 

“เนื้อแท้ของโครงสร้างเป็นอย่างไรเราก็โชว์โครงสร้างเลยว่าเป็นเหล็ก เป็นปูน หรืออะไรก็ว่าไปไม่มีปกปิด วัสดุที่ใช้ในการตกแต่งภายในมาอย่างไรก็โชว์อย่างนั้น เป็นความงามโดยธรรมชาติปราศจากการปรุงแต่ง หินอ่อนที่ใช้ตกแต่งภายในก็จะไม่มีมาแกะสลักอย่างวิจิตรจนคนดูเกิดคำถามว่านี่คือหินอ่อนหรือปูนปั้น ไม้ก็เป็นไม้แท้งามอย่างไม้ โชว์เนื้อและลวดลายของไม้อย่างธรรมชาติออกมา” ธีรชัย ลี้สุรพลานนท์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

หากเราเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ที่เพิ่งสร้างใหม่ เราจะเห็นแนวคิดของการใช้สัจจะวัสดุแทบจะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารที่ปูนเปลือย อาคารที่โชว์ผนังอิฐ ตึกสูงที่โชว์โครงสร้างเหล็กและกระจก ซึ่งเป็นอิทธิพลของแนวคิดการออกแบบยุคโมเดิร์น และไม่เพียงแต่ในงานสถาปัตยกรรมเท่านั้น การใช้สัจจะวัสดุก็ถูกนำมาใช้งานออกแบบเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ อีกหลายชิ้น เช่น ไอโฟน ที่เน้นโชว์โครงสร้างโลหะชิ้นเดียวกับกระจก เครื่องเสียงแบรนด์ แบง แอนด์ โอ ลุฟเฟ่น ซึ่งเป็นเครื่องเสียงเกรดไฮเอนด์ ก็นำแนวคิดในการออกแบบโมเดิร์น ด้วยการใช้รูปทรงทางเรขาคณิต โชว์วัสดุและโครงสร้างอันแสนเรียบง่ายออกมาให้เราได้สัมผัส คำถามต่อมาก็คือแม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนานเกือบ 100 ปี แต่ทำไมความเป็นโมเดิร์นถึงคงอยู่

สัจจะวัสดุ สิ่งที่แฝงในความโมเดิร์น

 

ธีรชัยแสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า หากมองย้อนไปจุดเริ่มต้นของโมเดิร์นจะเห็นได้ว่าเป็นช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายอย่าง คนชั้นกลางเริ่มมีบทบาทมากกว่าชนชั้นสูง ระบบการผลิตสินค้าก็ออกมาในรูปแบบอุตสาหกรรมที่ทำในปริมาณมาก รูปแบบเศรษฐกิจก็เปลี่ยนไป เมื่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนเปลี่ยนแปลง การออกแบบก็เปลี่ยนไปจากเดิม

นำเอาเรื่องฟังก์ชั่นการใช้งานเป็นตัวตั้ง เน้นเรื่องการใช้งานให้ตอบสนองความต้องการใช้งานเป็นหลัก และคุ้มค่าในงบประมาณมากกว่า ด้วยการตัดลดทอนรายละเอียดที่ไม่สำคัญเหมือนถอดหน้ากาก ถอดเปลือกนอกออก จนเหลือแต่สิ่งที่แสดงความเป็นตัวตนของอาคารนั้น เราจึงเรียกว่าการแสดงสัจธรรมที่แท้จริงไม่มีปิดบังซ่อนเร้น

สัจจะวัสดุ สิ่งที่แฝงในความโมเดิร์น

 

สังคมปัจจุบันเราก็ยังอยู่ในยุคสมัยที่ชนชั้นกลางมีบทบาททางสังคมสูง แม้แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยบ้างแต่การแสดงสัจจะของโมเดิร์นก็ฝังรากลึกอยู่ในแนวคิดของการออกแบบยุคใหม่ของคนรุ่นใหม่ๆ ไปแล้ว

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรคืองานออกแบบที่ใช้สัจจะวัสดุ รศ.สุภาวดี รัตนมาศ จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ให้คำตอบเรียบง่ายในเรื่องนี้ว่า “อะไรที่เราเห็นว่าเป็นเนื้อแท้ของวัสดุนั้นปราศจากการแต่งแต้มสีสัน มองและรู้เลยว่าคือวัสดุอะไร และมีความงามตามธรรมชาติของมัน นั่นคือสัจจะวัสดุในความเห็นของอาจารย์”

สัจจะวัสดุถุกนำไปใช้ในหลากหลายสาขา แต่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงนอกจากคนที่เรียนมาทางสายสถาปนิก และถ้าเราสังเกตดีๆ การแนวคิดการแสดงสัจจะวัสดุในงานออกแบบแฝงอยู่รอบตัวโดยที่เราไม่เคยรู้มาก่อน งานออกแบบบางสไตล์จะใช้คอนกรีตเสริมเหล็กแล้วปั้นโครงสร้างเป็นรูปทรงต่างๆ ก็จะเป็นอีกแนวหนึ่งของการใช้สัจจะวัสดุ

สัจจะวัสดุ สิ่งที่แฝงในความโมเดิร์น

 

ในงานออกแบบของญี่ปุ่นยุคใหม่เองก็นิยมใช้ปูนเปลือยค่อนข้างมาก อีกทั้งงานก่ออิฐแล้วโชว์ว่าผนังนี้ทำด้วยอิฐมอญก็เป็นงานโชว์วัสดุอีกแนวหนึ่ง ทั้งหมดนี้ถ้าเรามองแล้วรู้ว่าใช้วัสดุอะไรโดยไม่มีการแต่งสี ปิดทับ แต่งเติมไปจากที่เป็นก็เท่ากับว่ามีการใช้สัจจะวัสดุแล้ว และที่คิดว่าชัดเจนที่สุดก็น่าจะเป็นงานออกแบบสไตล์คันทรี่ในรีสอร์ท บ้านตามต่างจังหวัดที่เน้นใช้ไม้เป็นหลัก ไม้ก็คือการแสดงสัจจะวัสดุอีกอย่างหนึ่ง

“การใช้สัจจะวัสดุที่ถือว่าเป็นจุดเด่นนอกจากการโชว์เนื้อแท้ด้วยตาแล้วก็คือ การโชว์ความสามารถของวัสดุนั้นให้ถึงขีดสุด ยกตัวอย่างงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดชิ้นหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าทุกคนต้องเคยผ่านตาก็คือ เก้าอี้ “บาร์เซโลนา แชร์” งานออกแบบสุดล้ำของ ฟาน เดอ โรห์ เมื่อประมาณ 50 ปีก่อน ที่โชว์การใช้ความสามารถโครงเหล็กดัดงอแล้วย้อนกลับไปที่พนักพิง คนนั่งก็กลัวว่านั่งแล้วจะหักไหม แต่ก็ไม่หัก เป็นการแสดงงานออกแบบโมเดิร์นที่ใช้สัจจะวัสดุโชว์ความแข็งแรงของวัสดุที่ถูกบิดงอได้อย่างงดงามยิ่ง

สัจจะวัสดุ สิ่งที่แฝงในความโมเดิร์น

 

“เราอาจจะมองอาคารสมัยใหม่ที่โชว์โครงสร้างคานเหล็กยักษ์คานเดียวแล้วหิ้วตัวโครงสร้างอื่นของอาคารไว้ทั้งหมด แล้วด้านล่างปล่อยเป็นพื้นที่โล่งอเนกประสงค์ นี่ก็เป็นการโชว์ความสามารถของเหล็กที่ใช้เป็นโครงสร้าง ความแข็งแรงของวัสดุเป็นเรื่องสำคัญมากในการออกแบบโมเดิร์น” รศ.สุภาวดี กล่าว 

ธีรชัยเสริมต่อว่า ประเด็นที่น่าสนใจก็คือการมาของกระแสกรีน จะเข้ามาท้าทายความเป็นสัจจะวัสดุอย่างมาก โดยเฉพาะวัสดุที่ทำมาจากปิโตรเคมี จากเดิมเรื่องกระจกที่มีปัญหาอันตรายจากการแตกหักขีดจำกัดของรูปทรง ก็จะมีพวกโพลีคาร์บอเนตที่เข้ามาแทนที่กระจก มีความแข็งแรง เหนียว ปลอดภัย และใสเหมือนกระจก หรือไม้เทียมก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากเมื่อจุดหนึ่งไม้เป็นวัสดุที่มีราคาแพง

ในขณะเดียวกันที่โลกต้องการลดการตัดไม้ทำลายป่า ก็เกิดไม้เทียมแบบต่างๆ ขึ้นมา จึงทำให้หลักการแสดงความเป็นสัจจะวัสดุของโมเดิร์นได้รับการคลี่คลาย แปรเปลี่ยนไปจากเดิม ความเป็นสัจจะเนื้อแท้ก็ถูกบิดไปเหลือเพียงรูปที่จับต้องได้เพียงการมอง ไม่ใช่ลึกถึงการสัมผัสได้ด้วยกาย แต่สุดท้ายเมื่อถึงวันหนึ่งที่เราทุกคนคิดจะสร้างบ้านหรืออาคารประกอบธุรกิจของตัวเองสักแห่ง ต้นทุนจะมาเป็นตัวกำหนดในการเลือกวัสดุว่าคุณจะเลือกใช้วัสดุแท้หรือเทียม เพื่อแสดงเอกลักษณ์ของตัวเองออกมา

สัจจะวัสดุ สิ่งที่แฝงในความโมเดิร์น