posttoday

สนช. จับมือ ศศินทร์ และ MIT ร่วมขับเคลื่อนระบบนวัตกรรม สู่ยุคไทยแลนด์ 4.0

27 มีนาคม 2561

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช.จับมือ สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ และ สมาคมนิสิตเก่าเอ็มไอที ประเทศไทย Massachusetts Institute of Technology Global Startup Workshop (MITGSW)

 

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช.จับมือ สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ และ สมาคมนิสิตเก่าเอ็มไอที ประเทศไทย Massachusetts Institute of Technology Global Startup Workshop (MITGSW) และเครือข่ายพันธมิตร จัดงาน "MIT Global Startup Workshop 2018" หวังเป็นแรงขับเคลื่อนระบบนวัตกรรม และยกระดับธุรกิจสตาร์ทอัพไทย ติดอาวุธไอเดียให้พร้อมรับยุคไทยแลนด์ 4.0 พร้อมเปิดเวทีให้นักศึกษาร่วมประกวดแผนธุรกิจนานาชาติ ชิงเงินรางวัลสูงสุดกว่า 15,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. เปิดเผยว่า "สนช.ได้รับมอบหมายจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ทอัพ เพื่อพัฒนาศักยภาพประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการสร้างสตาร์ทอัพในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะโอกาสในการขยายธุรกิจและสร้างตลาดใหม่ให้สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ล่าสุด สนช. ได้ร่วมกับศศินทร์ สมาคมนิสติเก่าเอ็มไอที ประเทศไทย MITGSW และเครือข่ายพันธมิตร จัดงาน "MIT Global Startup Workshop 2018" โดยมีเป้าหมายที่จะให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการรายใหม่ หรือผู้สนใจที่ต้องการจะปรับตัวเองให้เท่าทันเศรษฐกิจในยุคนวัตกรรม ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ให้ได้รับความรู้ และไอเดียใหม่ๆ เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจ หรือไปสร้างธุรกิจใหม่ให้ประสบความสำเร็จ โดยงานนี้แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ 1) การสัมมนาเชิงปฏิบัติการโดยผู้ทรงคุณวุฒิของสถาบันการศึกษาชั้นนำ และผู้ประกอบธุรกิจยุคใหม่ที่ประสบความสำเร็จกับโมเดลธุรกิจยุคใหม่ ที่จะมาถ่ายทอดความรู้ แนวคิด และกลยุทธ์ที่จำเป็นสำหรับการนำไปต่อยอดธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในยุคไทยแลนด์ 4.0 กว่า 60 คน ในประเด็นที่น่าสนใจ เช่น FinTech, UrbanTech, E-Commerce ฯลฯ และ 2) การประกวดแผนธุรกิจนานาชาติโดยบรรดานิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ที่จะนำโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่น่าสนใจมาร่วมการแข่งขัน"

ดร. พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ระบบนวัตกรรมเป็นระบบที่มีความเป็นพลวัตสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะการณ์ที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นด้วยอัตราเร่งอย่างในปัจจุบัน รูปแบบการพัฒนานวัตกรรมที่เราพบเห็นจึงไม่ใช่ลักษณะเชิงเส้น จากงานวิจัย สู่สิ่งประดิษฐ์ และจึงไปสู่นวัตกรรม อย่างที่เราคุ้นเคยกันในอดีตแต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้น การยกระดับระบบนวัตกรรมของประเทศ จึงมิใช่เรื่องของการเชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์เพียงเท่านั้น แต่เป็นการปรับมุมมอง และการขับเคลื่อนปัจจัยในมิติอื่นๆ ที่ยังเป็นอุปสรรคในการพัฒนานวัตกรรม ได้แก่ การยกระดับรูปแบบและกระบวนการบริหารจัดการนวัตกรรมในระดับมหภาคให้มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน การสนับสนุนให้เกิดการวางแผนและตัดสินใจบนฐานของข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ การพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนทางการเงินที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ การสร้างและพัฒนาตลาดนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการเติบโตและขยายผล และการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ยังรวมไปถึงการเปิดรับโอกาสทางนวัตกรรมรูปแบบใหม่ที่สนับสนุนให้เกิดการก้าวกระโดดทางนวัตกรรมในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมในภาครัฐ นวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล นวัตกรรมเชิงพื้นที่ นวัตกรรมทางการเงิน นวัตกรรมด้านทักษะคนรุ่นใหม่ นวัตกรรมทางรูปแบบธุรกิจ นวัตกรรมทางสังคม นวัตกรรมในภูมิภาค นวัตกรรมสื่อ และนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องตามให้ทันความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ และเปิดรับแนวทางใหม่ๆ ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนวัตกรรมของประเทศ"

 

สนช. จับมือ ศศินทร์ และ MIT ร่วมขับเคลื่อนระบบนวัตกรรม สู่ยุคไทยแลนด์ 4.0