posttoday

ไขความลับ! ภาษีร้านขายยา ที่เจ้าของร้านต้องรู้

11 มิถุนายน 2568

ภาษีที่ต้องรู้! ธุรกิจร้านขายยามีแนวโน้มเติบโตสูง เจ้าของร้านควรเข้าใจเรื่องภาษี เพื่อเลี่ยงปัญหาและค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดฝัน

การเปิดร้านขายยาเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูง แต่ในขณะเดียวกันเจ้าของร้านก็ต้องทำความเข้าใจเรื่องภาษีให้ถี่ถ้วน เพราะหากละเลยอาจนำไปสู่ปัญหาทางกฎหมายและค่าใช้จ่ายทางภาษีที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่คาดคิดก็เป็นได้ ซึ่งภาษีที่เกี่ยวข้องกับร้านขายยามีหลายประเภท ตั้งแต่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งแต่ละประเภทมีเงื่อนไขและข้อกำหนดที่แตกต่างกันออกไป

นอกจากนี้อาจมีภาษีประเภทอื่นที่เกี่ยวข้องกับร้านขายยา ซึ่งแต่ละร้านอาจต้องชำระภาษีบางประเภทหรือทั้งหมดขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่กำหนด หากร้านขายยาเข้าเงื่อนไขใดก็จำเป็นต้องชำระภาษีตามประเภทนั้น โดยรายละเอียดเพิ่มเติมจะอธิบายดังนี้

ธุรกิจร้านขายยากับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

สำหรับเจ้าของร้านขายยาที่เสียภาษีในนามบุคคลธรรมดา สามารถแบ่งรายได้จากการขายยาออกเป็น 2 ประเภทของเงินได้พึงประเมิน ได้แก่

1.เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 (มาตรา 40(8))  เจ้าของร้านสามารถเลือกวิธีหักค่าใช้จ่ายได้ 2 รูปแบบ คือ

          - หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาที่อัตรา 60%

          - หักค่าใช้จ่ายตามจริง โดยต้องมีเอกสารหลักฐานครบถ้วน

2.เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 (มาตรา 40(5))  ในกรณีที่เจ้าของร้านให้เช่าหน้าร้าน รายได้จากค่าเช่าสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 วิธี คือ

          - หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 30%

          - หักค่าใช้จ่ายตามจริง

          นอกจากนี้อัตราภาษีที่ใช้คำนวณเป็นแบบก้าวหน้า สูงสุด 35% โดยต้องยื่นภาษีตามกำหนด 2 รอบ ได้แก่

          - ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(5) - (8) โดยนำรายได้ช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายนมายื่นภายในกรกฎาคม - กันยายน หรือผ่านอินเทอร์เน็ตภายในวันที่ 8 ตุลาคม

          - ภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.90) สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(2) - (8) โดยนำรายได้ทั้งปีมายื่นภายในเดือนมกราคม - มีนาคมของปีถัดไป หรือยื่นผ่านอินเทอร์เน็ตตามเวลาที่กำหนด

ธุรกิจร้านขายยากับภาษีเงินได้นิติบุคคล

สำหรับธุรกิจร้านขายยาที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ โดยคำนวณจาก

1.กำไรสุทธิทางภาษี ซึ่งได้จากรายรับที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการในรอบระยะเวลาบัญชี หักด้วยรายจ่ายที่มี

2.คำนวณโดยนำกำไรสุทธิทางภาษีมาคูณกับอัตราภาษีที่กำหนด

เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต้องจัดทำบัญชี ดังนั้นกิจการต้องจัดทำ
งบดุล บัญชีทำการ และงบกำไรขาดทุน พร้อมทั้งใช้บริการของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) หรือผู้สอบบัญชีภาษีอากร (TA) เพื่อตรวจสอบและรับรองบัญชี ก่อนนำส่งงบการเงินและภาษีให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมสรรพากร ใน 2 ช่วง ได้แก่

          - ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) ต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 2 เดือน นับจากวันสุดท้ายของ 6 เดือนแรกตามรอบระยะเวลาบัญชี

          - ภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.50) ต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 150 วัน นับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

ธุรกิจร้านขายยากับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

ร้านขายยาที่มีรายรับจากการขายสินค้าหรือบริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับจากวันที่รายรับเกินกำหนด จากนั้นเมื่อมีการขายยาจะต้องออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อทุกครั้ง

สำหรับร้านขายยาที่ค้าปลีกสามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ นอกจากนี้ต้องจัดทำรายงานภาษีขาย ภาษีซื้อ และรายงานสินค้าและวัตถุดิบ พร้อมนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% (ภ.พ.30) ต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน

ธุรกิจร้านขายยากับภาษีหัก ณ ที่จ่าย

ภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับร้านขายยาเป็นภาษีที่นิติบุคคลซึ่งจ่ายเงินได้ให้แก่ผู้มีรายได้ เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เป็นต้น ต้องดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่มีการจ่ายเงิน จากนั้นให้นำส่งภาษีโดยใช้แบบ ภ.ง.ด.3 และ/หรือ ภ.ง.ด.53 ภายใน 7 วันนับจากวันสิ้นเดือนที่มีการจ่ายเงินได้พึงประเมิน ทั้งนี้การหักและนำส่งภาษีต้องเป็นไปตามเงื่อนไขเงินได้พึงประเมินที่กำหนดไว้

กล่าวโดยสรุป ภาษีร้านขายยาเป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าของร้านต้องเข้าใจเพื่อให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้องและไม่มีปัญหาเกี่ยวกับภาษี เนื่องจากร้านขายยามีภาระภาษีอยู่หลายประเภทตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น

นอกจากนี้หากรายได้ของร้านขายยาถึงเกณฑ์ที่กำหนด จะต้องดำเนินการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และเก็บภาษีจากการขายสินค้า รวมถึงยื่นแบบแสดงรายการภาษีทุกเดือน ส่วนภาษีที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน เช่น ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และประกันสังคม ก็เป็นอีกส่วนที่ต้องจัดการให้ถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางกฎหมาย

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่  Inflow Accounting

ข่าวล่าสุด

กรมอุตุฯเตือนทั่วไทยมีฝนฟ้าคะนอง ตกหนักสุดภาคตะวันออกร้อยละ60