posttoday

UTA เชี่ยมชมการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ และ ฮาเนดะ ประเทศญี่ปุ่น

23 กุมภาพันธ์ 2566

‘คีรี’ ลุยต่อ นำทีมผู้บริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น หรือ UTA เยี่ยมชมแนวทาง การพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ - ท่าอากาศยานนานาชาติฮาเนดะ ประเทศญี่ปุ่น

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ประเทศญี่ปุ่น - นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จํากัด (UTA) พาคณะผู้บริหารระดับสูง อาทิ นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ, นายกวิน กาญจนพาสน์, นายภาคภูมิ ศรีชำนิ, นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา, นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร, นายวรัช กุศลมโนมัย และนายเศรณี ชาญวีรกูล เข้าเยี่ยมชม และฟังแผนการดำเนินงานการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ และท่าอากาศยานนานาชาติฮาเนดะ โดยมี ผู้บริหารจาก การท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ Mr. Akihiko Tamura ประธานคณะผู้บริหาร พร้อมด้วย Mr. Hideharu Miyamoto กรรมการบริหาร ให้การต้อนรับ

ท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ เป็นท่าอากาศยานที่รองรับการขนส่งทางอากาศเป็นอันดับ 1 ของญี่ปุ่นและอันดับ 3 ของโลก รวมถึงเป็นท่าอากาศยานหลักที่ทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างทวีปเอเชียและอเมริกา อีกทั้งในปี 2022 ยังได้รับรางวัลลำดับที่ 4 ของ The World's Top 10 Airports of 2022 ซึ่งเป็นรางวัลที่ได้รับการโหวตจากผู้ใช้สนามบินทั่วโลกระหว่างปี 2021 – 2022 นอกจากนี้ยังถูกจัดให้อยู่ในระดับ 4 ดาวในด้านสิ่งอำนวยความสะดวก และความสะอาดของอาคารผู้โดยสาร รวมถึงด้านความปลอดภัย การตรวจคนเข้าเมือง และการบริการของพนักงานจากองค์กรชั้นนำอย่าง Skytrax

 

ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 คณะผู้บริหารจากท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ ได้นำคณะผู้มาเยือนเยี่ยมชม การจัดการระบบสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสนามบิน เช่น การบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกและการควบคุมคลังสินค้า พร้อมสาธิต ระบบ Face Express ระบบการจดจำใบหน้า ที่ช่วยลดขั้นตอนความล่าช้าแก่นักเดินทาง ให้สามารถผ่านจุดตรวจได้อย่างสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นนอกจากนี้ยังเยี่ยมชมการทำงานของ NEC Future Creation Hub พื้นที่วิจัยที่มีส่วนช่วยในการสร้างนวัตกรรม พร้อมเพิ่มมูลค่าให้กับภาคธุรกิจ และการท่องเที่ยวภายในสนามบิน

ทั้งนี้ ถัดมาในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 คณะเดินทางได้เข้าเยี่ยมชม ท่าอากาศยานนานาชาติฮาเนดะ โดยเริ่มต้นเยี่ยมชมกับ เมืองแห่งนวัตกรรม Innovation City เมืองที่มีแนวคิดในการผสมผสานระหว่างการค้า และการทำธุรกิจเข้าด้วยกัน รวมถึงได้เข้าเยี่ยมชมพื้นที่ Airport Garden พื้นที่สำหรับการพักผ่อนของนักเดินทางที่ประกอบไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ สปา โรงแรม ร้านค้า และระบบขนส่ง ที่สามารถเชื่อมเข้าสู่ท่าอากาศยานฯ ได้โดยตรง อีกด้วย