posttoday

ธ.ก.ส. เติมทุน 6,000 ล้าน ชดเชยดอกเบี้ยจัดการอ้อยอย่างยั่งยืน ลด PM 2.5

16 ธันวาคม 2565

ธ.ก.ส. จัดโครงการชดเชยรายได้ดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรไร่อ้อย ปี 2565 - 2567 หนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) วงเงินรวมกว่า 6,000 ล้านบาท

ธ.ก.ส. จัดโครงการชดเชยรายได้ดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรไร่อ้อย ปี 2565 - 2567 หนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) วงเงินรวมกว่า 6,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย MRR และ MLR โดยรัฐบาลและ ธ.ก.ส ช่วยรับภาระในการชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ สามารถติดต่อที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันนี้ถึงว 30 ก.ย. 2567 หรือจนกว่าจะเต็มวงเงินที่กำหนด

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยสำหรับบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ปี 2565 - 2567 ซึ่งโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง ธ.ก.ส. สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและโรงงานน้ำตาล โดยมุ่งเน้นสนับสนุนแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ สถาบัน กลุ่มบุคคล หรือวิสาหกิจชุมชนชาวไร่อ้อย เพื่อบริหารจัดการแหล่งน้ำ เช่น การจัดหาแหล่งน้ำสำรองในการบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้ง การปรับพื้นที่การปลูกอ้อยไปสู่เกษตรแปลงใหญ่ และการซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตอ้อยและลดต้นทุนในระยะยาว ลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในไร่อ้อย สอดคล้องกับเป้าหมายในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ลดการพึ่งพาแหล่งเงินทุนนอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยไม่เป็นธรรม พร้อมเสริมสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่เกิดจากการเผาอ้อย

สำหรับคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคลและวิสาหกิจชุมชน ที่ขึ้นทะเบียนการปลูกอ้อยกับ สอน. และเป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลที่ให้การรับรองเกษตรกร วงเงินปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี วงเงินรวมกว่า 6,000 ล้านบาท  โดยวงเงินแบ่งตามวัตถุประสงค์ในการกู้ ได้แก่ 

1. เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย วงเงินสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท อาทิ การขุดบ่อสระกักเก็บน้ำ การเจาะบ่อบาดาล การจัดทำระบบน้ำ การจัดซื้อเครื่องสูบน้ำและอุปกรณ์ให้น้ำในไร่อ้อยและการรวมกลุ่มสร้างหรือพัฒนาปรับปรุงระบบการส่งน้ำ 

2. เพื่อปรับพื้นที่ปลูกอ้อยไปสู่เกษตรแปลงใหญ่ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท (อัตราไร่ละไม่เกิน 2,500 บาท) และ 

3. เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร (ประเภทรถตัดอ้อย รถคีบอ้อย หรืออุปกรณ์ส่วนควบ) วงเงินสูงสุดไม่เกิน 26.05 ล้านบาท กรณีเป็นเกษตรกรบุคคล คิดอัตราดอกเบี้ย MRRซึ่งในปัจจุบัน MRR อยู่ที่ 6.50 % โดยเกษตรกรจ่ายดอกเบี้ยเพียง 2 %ต่อปี รัฐบาลจะจ่ายชดเชยดอกเบี้ยแทน 3 % ต่อปี และ ธ.ก.ส. รับภาระเอง 1.5 % ต่อปี กรณีเป็นกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคล หรือวิสาหกิจชุมชน คิดอัตราดอกเบี้ย MLRในปัจจุบัน ดอกเบี้ย MLR อยู่ที่ 4.88 %โดยกลุ่มเกษตรกรจ่ายดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 2 รัฐบาลจะจ่ายชดเชยดอกเบี้ยแทนร้อยละ 2 ต่อปี และ ธ.ก.ส. รับภาระเองในอัตรา0.875 % ต่อปี 

4. เงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร (ประเภทรถแทรกเตอร์ รถบรรทุก และพ่วงบรรทุก) วงเงินสูงสุดไม่เกิน 11 ล้านบาท จะเรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้ ทั้งเกษตรกรรายบุคคลและกลุ่มเกษตรกร ในอัตรา 4% โดยรัฐบาลจะไม่ชดเชยในส่วนนี้ แต่ ธ.ก.ส. จะเป็นผู้รับภาระในส่วนที่เหลือแทน 

ทั้งนี้ สำหรับลูกค้าที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการฯ สามารถติดต่อได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02 555 0555 ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567