posttoday

จากขยะเหลือทิ้งสู่เทรนด์เสื้อผ้ารักษ์โลก

29 มกราคม 2566

เสื้อผ้าจากขยะหรือเส้นใยรีไซเคิลถือเป็นเทรนด์ใหม่ของวงการแฟชั่นที่นอกจากจะช่วยเพิ่มกำไรให้กับผู้ผลิตแล้ว ยังดีต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ลดการใช้น้ำและการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 45% ต่อปี

อุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่น ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากเป็นอันดับ 4 รองจากอุตสาหกรรมอาหาร ก่อสร้าง และการขนส่ง เนื่องจากต้องใช้ปริมาณน้ำจำนวนมากในการผลิต แถมยังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก แบรนด์แฟชั่นหลายเจ้าจึงเริ่มหันหาแนวทางผลิตเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงลงนามในกฎบัตรสหประชาชาติด้านอุตสาหกรรมแฟชั่นว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Fashion Industry Charter for Climate Action)  โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้50% ภายในปี 2030

จากขยะเหลือทิ้งสู่เทรนด์เสื้อผ้ารักษ์โลก

Textile Recycling แฟชั่นจากขยะสิ่งทอ

        Textile Recycling คือ เสื้อผ้าที่ผลิตมาจากขยะสิ่งทอ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือขยะสิ่งทอก่อนการบริโภค (Pre-consumer) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเศษด้ายและเศษผ้าที่เหลือใช้จากโรงงาน และขยะสิ่งทอหลังการบริโภค (Post-consumer) คือ สิ่งทอที่ถูกทิ้ง เสื่อมสภาพหรือผ่านการใช้งานแล้ว 

        สำหรับกระบวนการนำ Textile Recycling มาผลิตเป็นเสื้อผ้าแฟชั่น จะเริ่มจากการแกะวัสดุแข็งที่มากับเสื้อผ้าออก ก่อนจะนำไปตัดเป็นชิ้นเล็กและเข้าสู่กระบวนการแปลงสภาพ ขจัดสิ่งแปลกปลอมและอัดขึ้นรูป อย่างไรก็ดีใช้ว่าเส้นใยเหลือทิ้วจะสามารถนำมาแปรรูปได้ทั้งหมด เนื่องจากเสื้อผ้าส่วนใหญ่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรีไซเคิลได้ 100%

การผลิตสิ่งทอจากเส้นใยรีไซเคิลจะช่วยลดปริมาณของการใช้น้ำมากถึง 95% และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 45% ต่อปีซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกป่าจำนวน 50,000 ต้น

โดยทั่วไป เสื้อผ้าที่ทำมาจากเส้นใยรีไซเคิลยังคงมีราคาแพงกว่าเสื้อผ้าที่ทำมาจากเส้นใยบริสุทธิ์ เนื่องจากต้องใช้แรงงานจำนวนมากในการคัดแยกส่วนประกอบและสีของเสื้อผ้า เพื่อให้ได้วัตถุดิบตั้งต้นที่สม่ำเสมอสำหรับการรีไซเคิลอการประหยัดต้นทุนต่อหน่วย (Economies of Scale) จึงทำได้ค่อนข้างยาก 

ประกอบกับต้นทุนในการวิจัยและพัฒนา การลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อรีไซเคิลสิ่งทอยังอยู่ในระดับสูง แต่คาดว่าในอนาคต ต้นทุนในการผลิตจะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากบริษัทต่างๆ สนใจที่จะลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตเสื้อผ้า รวมถึงการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการรีไซเคิล ขณะที่ผู้บริโภคมีความต้องการสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยินดีที่จะซื้อเสื้อผ้าที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลในราคาที่สูงขึ้น 

จากขยะเหลือทิ้งสู่เทรนด์เสื้อผ้ารักษ์โลก

ตลาด Textile Recycling ยังเป็นที่น่าจับตาในอนาคต

        Textile Recycling เป็นแนวทางที่สอดรับกับ BCG Model ซึ่งตอบโจทย์ทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตซึ่งจะทำให้การรีไซเคิลสิ่งทอมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนี้

  1. ตอบโจทย์กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการผลิตเสื้อผ้าทั่วไป การใช้ขยะสิ่งทอทุกๆ  1 กิโลกรัมสามารถช่วยประหยัดน้ำถึง 6,000 ลิตร ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 3.6 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคทุกวันนี้เริ่มหันมาใส่ใจสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
  2. ลดความเสี่ยงจากราคาผันผวน 'ฝ้าย' ถือเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเสื้อผ้า เมื่อปัญหา Climate change ทำให้เกิดภัยแล้งและส่งผลต่อผลผลิต ราคาฝ้ายจึงพุ่งสูงขึ้นและมีความผันผวนสูง การผลิตเสื้อผ้าที่ทำมาจากขยะสิ่งทอจะช่วยลดการนำเข้าวัตถุดิบเหล่านี้ได้
  3. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตเสื้อผ้าที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วจะทำให้การรีไซเคิลสิ่งทอมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต ทำให้ธุรกิจการรีไซเคิลสิ่งทอเติบโตอย่างก้าวกระโดด และต้นทุนการผลิตลดลง

 

      ในปี 2032 คาดว่ามูลค่าตลาด Textile Recycling ของโลกจะอยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 5.6 แสนล้านบาท จากในปี 2022 ที่มีมูลค่า 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2 แสนล้านบาท ขณะที่ในไทยคาดว่าจะอยู่ที่ราว 1.3 พันล้านบาทหรือราว 0.5% ของมูลค่าตลาดเสื้อผ้าของไทย เนื่องจากยังติดอุปสรรคจากความซ้บซ้อนของเทคโนโลยีการรีไซเคิล ความไม่แน่นอนของอุปทานเสื้อผ้าที่ใช้แล้วเพื่อนำมารีไซเคิล และขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ

 

ข้อมูลอ้างอิง: Krungthai COMPASS