posttoday

'มนพร' ปรับโครงสร้าง5องค์กร ผุดคอมเพล็กซ์ท่าเรือ-ปลดหนี้ ขสมก.

05 ตุลาคม 2566

“มนพร เจริญศรี” รมช.ป้ายแดงคมนาคม ประกาศเดินหน้าปรับโครงสร้าง 5 หน่วยงานในสังกัด ยกระดับคุณภาพชีวิต-สร้างรายได้ประเทศ ตามแนวทางเทรนด์โลก net zero ส่วนประเทศ ถนนต้องปลอดฝุ่น PM2.5 ลั่นเห็นผลภายใน 6 เดือน ยันคมนาคมยุคใหม่โปร่งใส ไม่มีซื้อขายตำแหน่ง

เครือเนชั่น มีโอกาสเข้าสัมภาษณ์พิเศษ มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ว่าด้วยนโยบายในการกำกับดูแลหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม  รมช.มนพร ได้กล่าวถึงภาพรวมการทำงาน ได้สั่งการให้ทุกองค์กรมุ่งสู่ความทันสมัยเท่าทันโลก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ซึ่งเกี่ยวข้องกับแผนการลดฝุ่น PM2.5 การเปลี่ยนรถยนต์สันดาปไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เป็นต้น หน่วยงานของคมนาคมจะต้องรับนโยบายไปดำเนินการอย่างจริงจัง 

ทั้งนี้ ให้ทุกหน่วยที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล มีการทำงานให้โปร่งใส กำชับไม่ให้มีการซื้อตำแหน่ง จะต้องทำงานเพื่อความเป็นอยู่ของเจ้าหน้าที่ เพื่อนำไปสู่การยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างเท่าเทียม รวมทั้งได้สั่งการให้หน่วยงานที่มีโครงการคั่งค้างระยะเร่งด่วน ต้องเห็นผลภายใน 6 เดือน 

“ทุกวันนี้ทำงานทุกวัน ไม่มีวันหยุดจนเป็นความเคยชิน เพราะฉะนั้น ลูกน้องก็ต้องทำ จะมีการตรวจสอบการทำงานแต่ละหน่วยงานทุกๆ 3 เดือน เพื่อให้งานเดินหน้าและทันการณ์” มนพรกล่าวและว่า การกำหนดแนวทางการทำงานที่ดีจะนำไปสู่ผลงานที่จะสร้างผลประโยชน์ที่ดีให้ประเทศชาติและประชาชน ทำให้เกิดการพัฒนาและความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้น

สำหรับหน่วยงานที่กำกับดูแลรวม 5 แห่งนั้น ประกอบด้วย การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กรมเจ้าท่า สถาบันการบินพลเรือน โรงแรมสุวรรณภูมิ (โนโวเทล) และ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
     
เริ่มกันที่ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มนพรมองว่าเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพในการหารายได้อีกมากมาย ซึ่งได้มอบนโยบายให้ กทท.ทบทวนแผนพัฒนาที่ดินบริเวณท่าเรือกรุงเทพ หรือย่านคลองเตย ซึ่งมีพื้นที่พร้อมพัฒนาอยู่ประมาณ 17 ไร่ ให้เป็นคอมเพล็กซ์ ทั้งรองรับการท่องเที่ยว แหล่งชอปปิ้งแห่งใหม่ อาจจะมีรูปแบบโครงการคอมมูนิตี้ริมแม่น้ำเจ้าพระยาโดยสั่งการให้ กทท.ทำแผนพัฒนาและนำมาเสนอภายใน 6 เดือนนี้

เบื้องต้น ผู้บริหารการท่าเรือจะลงพื้นที่ไปคุยกับประชาชน ในโครงการจะต้องมีที่พักอาศัยให้ประชาชน และหอพักให้พนักงานการท่าเรือ เป็นสวัสดิการต้องคำนึงถึง นำไปสู่การผลักดันท่าเรือกรุงเทพ ให้เป็นท่าเรืออัจฉริยะ หรือ Smart Port ต่อไป

ตนยังมีกำหนดเดินทางไปตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายกรมเจ้าท่าในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะสั่งการให้กรมเจ้าท่ารวบรวมข้อมูลท่าเรือทั้งหมด วางแผนพัฒนาไม่ให้เป็นท่าเรือร้าง รวมทั้งจะประสานกับกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อจัดทำแพ็กเกจท่องเที่ยว สนับสนุนการท่องเที่ยวทางน้ำฃ

สำหรับสถาบันการบินพลเรือน เนื่องจากขณะนี้พบว่าสถาบันฯ มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่จำกัดเกินไป ต้องเพิ่มหลักสูตรการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในปัจจุบัน อาทิ หลักสูตรพัฒนาช่างซ่อมอากาศยาน และหลักสูตรด้านโลจิสติกส์ที่ครบวงจรมากขึ้น
             
อีกหน้วยงานที่ต้องรับผิดชอบคือ บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด สัญญาบริหารโรงแรมภายใต้เครือโรงแรมโนโวเทล จะหมดสัญญาในปี 2567 ได้สั่งการให้พิจารณาไม่ต่อสัญญากับเครือโรงแรมดังกล่าว เพื่อนำโรงแรมกลับมาบริหารภายใต้ชื่อ โรงแรมสุวรรณภูมิ

สำหรับสุดท้าย สำคัญและได้สั่งการกับผู้บริหารถึงแนวทางการทำงานหลังจากนี้คือ ขสมก.โดยปัจจุบันเป็นหน่วยงานที่มีผลขาดทุนต่อเนื่อง และอยู่ระหว่างเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งผลการดำเนินงานด้านการเงิน พบว่ามีรายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 7.8 พันล้านบาท แต่กลับมีค่าใช้จ่าย และต้นทุนทางการเงิน เฉลี่ยต่อปี 1.25 หมื่นล้าน และผลขาดทุนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 4.7 พันล้านบาท ทำให้ปัจจุบันมียอดหนี้สะสมสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท
    
จากคุยกับผู้บริหาร ขสมก. ก็พบว่าภาระหนักที่ทำให้องค์กรขาดทุนต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้นทุนค่าซ่อมรถที่มีเฉลี่ยปีละ 1.9 พันล้านบาท หาก ขสมก.สามารถเร่งรัดการจัดหารถเมล์ใหม่ ในลักษณะเช่าเอกชน ก็จะทำให้ไม่ต้องแบกรับต้นทุนค่าซ่อมส่วนนี้ และจะเป็นผลดีต่อต้นทุนลดลง และหากมีรถเมล์ใหม่ งานบริการที่ดีขึ้น ก็จะทำให้ ขสมก.กลับมาทำกำไร และออกจากแผนฟื้นฟูได้”

“ให้เร่งรัดจัดทำแผนจัดหารถโดยสารใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เน้นเช่ารถเพื่อไม่ให้มีต้นทุนค่าซ่อม ปรับใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้งานบริการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” 

มนพร ย้ำว่า ขสมก.จะต้องรายงานแผนจัดหารถโดยสารนี้กลับภายใน 6 เดือน เพื่อเตรียมดำเนินการจัดหารถ หลังจากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก. ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนจะเร่งดำเนินการหลังจากนี้

สำหรับแผนจัดหารถโดยสาร  ขสมก.จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย

ระยะที่ 1 จัดหารถโดยสารจำนวน 224 คัน มูลค่า 341 ล้านบาท

ระยะที่ 2 จัดหารถโดยสาร จำนวน 1,020 คัน มูลค่า 1,939 ล้านบาท

ระยะที่ 3 จำนวน 769 คัน มูลค่า 3,201 ล้านบาท

โดยจะจัดหาด้วยวิธีการเช่า ภายในระยะเวลาประมาณ 3 – 5 ปี 

คาดว่าจะลดต้นทุนทางการเงินได้ทันทีประมาณ 60% ประกอบด้วย ค่าเหมาซ่อม ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าประกันภัย เป็นต้น.