posttoday

เศรษฐา ชู ‘สร้างอนาคต ผ่านการศึกษา’ ปั้นสถานอาชีวะ ตอบโจทย์ความต้องการโลก

04 พฤษภาคม 2566

เศรษฐา เปิดแนวคิด ‘สร้างอนาคต ผ่านการศึกษา’ เน้นกระจายความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมปั้นสถานอาชีวะเป็น 'ศูนย์สร้างสรรค์ สร้างตัวได้’ เพิ่มศักยภาพผู้เรียน ตอบโจทย์ความต้องการของโลก

นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้ง Facebook เศรษฐา ทวีสิน - Srettha Thavisin และ Twitter Srettha Thavisin 

โดยแสดงความห่วงใยตลาดแรงงานที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป มีการลดคนจากการใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทน  รัฐต้องมองให้ออกว่าโลกต้องการอะไร ประชาชนต้องมีทักษะอะไร ควรเตรียมตัวอย่างไร ในการวางแผน เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีทักษะ เตรียมความพร้อม  เพื่อตอบโจทย์ของโลกในอนาคต  

ทั้งนี้ ปัจจุบันการศึกษาของไทยยังต้องพัฒนาอีกมาก อย่างการศึกษาภาคสามัญ อาชีวะ และ การเรียนนอกวัยศึกษา ที่ต้องเริ่มต้นจากการกระจายความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ  ทำให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ  

โดยนโยบาย “หนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน” ของพรรคเพื่อไทย ทำให้ทุกคนได้เรียนโรงเรียนคุณภาพ ควบคู่ไปกับการพัฒนาหลักสูตรการเรียนให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ลดปัญหาการว่างงานได้  เพราะที่ผ่านมาอัตราการว่างงานของคนช่วงอายุ 15-24 เพิ่มขึ้นจากจาก 1.3% ในปี 2556 มาเป็น 4.9% ในปี 2564 

ส่วนของข้าราชการครู จะมีการบริหารจัดการงบประมาณการศึกษาให้บุคลากร ได้รับสวัสดิการ ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม 

“ผมเห็นข่าวเกี่ยวกับเรื่องรับสมัครครูด้วยอัตราเงินเดือน 15,000 บาท และสภาพความเป็นอยู่ที่พักที่แสนลำบาก เศร้าใจที่เราดูแลบุคลากรคนสำคัญที่จะมาพัฒนาการศึกษาของเราแบบนี้ เราต้องสร้างทรัพยากรที่ทำให้ผู้เรียน ได้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกันครับ” 

นายเศรษฐา ยังระบุอีกว่า ในส่วนของการเรียนสายอาชีวะ หรือสายอาชีพ ต้องได้รับการสนับสนุน ผลักดันให้เกิดแรงงานทักษะสูง หรือแรงงานเฉพาะทาง ที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคเอกชน รวมทั้งมองไปข้างหน้าว่าโลกต้องการทักษะอะไรให้มากกว่านี้ เช่น ทักษะการใช้งานหุ่นยนต์ หรือ ความรู้ด้านบล๊อคเชน จะเป็นทักษะที่มีความสำคัญในอนาคต ซึ่งล้วนเป็นทักษะขั้นสูงและเฉพาะทาง

ดังนั้น จึงต้องยกระดับระบบอาชีวะศึกษา ด้วยการปั้นสถานอาชีวะเป็น ‘ศูนย์สร้างสรรค์สร้างตัวได้’ เพิ่มศักยภาพผู้เรียน ทั้งในระดับปวช. ปวส. ให้มีการแข่งขันสูง หลักสูตรมีคุณภาพ ให้ไม่แพ้เรียนปริญญา ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต สนับสนุนให้ประชาชนเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมเพื่อ re-skill หรือ up-skill เพื่อลดอุปสรรคในการเปลี่ยนงาน ในช่วงกลุ่มวัยกลางคน เพื่อยกระดับทักษะความรู้ นำไปต่อยอด และสร้างรายได้ในที่สุด