posttoday

'จุรินทร์'เผยครม.อนุมัติFTAไทย-ยูเออี ขยายมูลค่าการค้า 1.3 ล้านล้านบาท

28 กุมภาพันธ์ 2566

จุรินทร์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ เผยครม.เห็นชอบFTAระหว่างไทยกับUAE ขยายมูลค่าการค้า1.3 ล้านล้านบาท หลังใช้เวลาเพียง21วัน

เมื่อวันที่  28 กุมภาพันธ์ 2566 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เรื่องความสำเร็จการเดินหน้าเริ่มต้น FTA ระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(UAE)

นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการทำ FTA ระหว่างไทยกับ UAE หรือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่คนไทยรู้จักว่าเมืองสำคัญคือดูไบ เกิดจากการที่ตนนำคณะกระทรวงพาณิชย์ ภาคเอกชน ไปเจรจากับรัฐบาล UAE  เมื่อวันที่ 6-8 ก.พ.ที่ผ่านมา ถือเป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งและตั้งใจจะทำให้เร็วที่สุด จึงนำเรื่องเข้า ครม.วันนี้ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบแล้ว จากนี้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเร่งประสานงานกับ UAE กำหนดวันประกาศร่วมกันอย่างเป็นทางการ นับหนึ่งการเปิดเจรจา ถือว่าเป็น FTA ที่เร็วที่สุดในโลกตั้งแต่ประเทศไทยทำมาฉบับหนึ่ง จะสร้างประโยชน์มหาศาลให้กับการค้าการลงทุนและการส่งออกของไทย

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประเทศที่มีมูลค่าการค้ากับไทยเป็นลำดับหนึ่งในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง โดยปี 2565 มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 1.3 ล้านล้านบาท เฉพาะ UAE มีมูลค่า 700,000 ล้านบาท จึงมีความสำคัญมาก การส่งสินค้าขายต่อไปภาษีจะเป็นศูนย์มีผลให้ UAE เป็นประตูการค้าของไทยสู่ตะวันออกกลาง ซึ่ง UAE เป็นสมาชิกกลุ่มประเทศความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) ที่ประกอบด้วย ประเทศกาตาร์ บาห์เรน ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) โอมาน และคูเวต จะได้รับการอำนวยความสะดวกต่างๆด้วย ประเทศไทยได้ประโยชน์มหาศาลจากการทำ FTA ครั้งนี้และเมื่อประกาศนับหนึ่งการเจรจาอย่างเป็นทางการแล้ว ตนขอให้กระทรวงพาณิชย์ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เร่งจัดทำให้เร็วที่สุดให้มีผลบังคับใช้เร็วที่สุดยิ่งเร็วเท่าไหร่ประเทศไทยก็ยิ่งได้ประโยชน์เร็วขึ้น ตัวเลขการส่งออกสร้างเงินให้ประเทศจะมากขึ้น

สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไป UAE เช่นรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ อัญมณี เครื่องประดับ สมาร์ทโฟน ไฟเบอร์บอร์ด ยางนอกรถจักรยานยนต์ ปลาทูน่ากระป๋องและข้าว เป็นต้น ส่วนไทยนำเข้าน้ำมันดิบ ปิโตรเลียม แก๊สธรรมชาติ อะลูมิเนียม ทองคำและเม็ดพลาสติก เป็นต้น