posttoday

ปัดขึ้นเงินเดือน อบต. หวังหาเสียงช่วงใกล้เลือกตั้ง

11 กุมภาพันธ์ 2566

“ทิพานัน” ชี้รัฐบาลอนุมัติขึ้นเงินเดือนค่าตอบแทน หวัง “บุคคลากรท้องถิ่น” พัฒนาขึ้น ไม่เกี่ยวหาเสียงการเมือง หลังมีข้อร้องเรียนเงินเดือน ไม่ขึ้นมา 10 ปี จากสมาคม อบต. ตั้งแต่ปี 62 ย้ำปี 66 โควิดคลี่คลายจึงดำเนินการ

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสวิจารณ์พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี กรณีขึ้นเงินเดือนให้กับผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ว่า เป็นเรื่องที่มีการดำเนินการตามกระบวนการอย่างเป็นขั้นตอน

 

โดยสมาคม อบต. แห่งประเทศไทย ได้ยื่นข้อเสนอต่อ กระทรวงมหาดไทยมาตั้งแต่ปี 2562  เนื่องจากไม่ได้มีการปรับค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมานานกว่า 10 ปี ซึ่งในข้อเรียกร้องสมาคม อบต.แห่งประเทศไทย เมื่อปี 2562 นั้น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เห็นด้วยในหลักการทั้งบรรเทาความเดือดร้อน และค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และก่อนหน้านี้ได้มีการปรับขึ้นเงินเดือนของกำนันและผู้ใหญ่บ้านไปแล้วก่อนปี 2562 ดังนั้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และหลักธรรมาภิบาล จึงเห็นควรปรับขึ้นเงินเดือนให้  เพื่อแก้ไขเรื่องดังกล่าวให้รวดเร็วที่สุด แต่ขณะนั้นมีสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงต้องชะลอไปก่อน เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ทางสมาคม อบต. แห่งประเทศไทย จึงได้มีการติดตามเรื่องดังกล่าว มายัง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อีกครั้ง เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565  ในงาน “การพัฒนาศักยภาพของท้องถิ่นสู่ความเป็นเมือง ตามหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไทย” จ. เชียงใหม่ โดยมี ผู้บริหาร อบต. 5,300 แห่งทั่วประเทศ เข้าร่วมการสัมมนา  

ซึ่ง พล.อ.อนุพงษ์  ได้มอบให้ผู้บริหารท้องถิ่น ทำหนังสือราชการ  พร้อมร่างหลักเกณฑ์การพิจารณาค่าตอบแทนต่างๆ  เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและข้อกฎหมายต่างๆ  

 

และเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ทางสมาคมอบต.แห่งประเทศไทย ได้เข้าหารือกับ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาคเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ข้อมูลถึงหลักเกณฑ์และความจำเป็นของ อบต.  ซึ่งนายพีระพันธุ์ ในฐานะที่เป็นประธานกรรมการอำนวยการความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ  จึงได้นำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย กระทรวงมหาดไทย ผ่านความเห็นชอบในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 

 

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า   พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รับเรื่องตั้งแต่ปี 62 และได้พยายามดำเนินการทันที แต่ติดปัญหาวิกฤตโควิด  เมื่อสถาการณ์คลี่คลายก็เดินหน้าแก้ไขปรับปรุง  ส่วนที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นำเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหา ก็เป็นไปตามขั้นตอนการแก้ไขปกติ   ไม่ได้มีนัยยะทางการเมืองใดๆ  หรือเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง ที่จะหยิบยกมาโจมตีกัน

โดยในส่วนการบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ สะท้อนให้เห็นว่า ให้ความสำคัญกับการพัฒนาท้องถิ่นทุกหน่วยงานยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน  ซึ่งการปรับขึ้นเงินเดือนจะเป็นขวัญและกำลังใจของคนทำงานและลดความเหลื่อมล้ำได้ส่วนหนึ่งด้วย