posttoday

'แสวง บุญมี'เผยคดีสอบฮั้วสว.เดินหน้าเหลือเวลา30วันแต่ขยายได้

09 มิถุนายน 2568

เลขาฯ กกต. แสวง บุญมี เผยสอบคดีฮั้วเลือก ส.ว. เหลือเวลา 30 วัน แต่ขยายได้ ย้ำทำงานเต็มที่–ไม่ลัดขั้นตอน พร้อมถูกตรวจสอบทุกด้าน ยันไม่มีใครบีบ กกต.

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2568 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสอบสวนกรณีร้องเรียนทุจริตการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่า กกต.ทำหน้าที่ตรวจสอบความสุจริตเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน กกต.ก็อยู่ในกระบวนการถูกตรวจสอบด้วย

นายแสวงระบุว่า กกต.เริ่มตรวจสอบตั้งแต่การประกาศผลเลือก ส.ว. เมื่อ 10 ก.ค. 2567 โดยทำงานร่วมกับดีเอสไอ, ป.ป.ง. และตำรวจ ก่อนจะปรับรูปแบบการทำงานในระยะหลัง จากการสอบรายบุคคล มาสู่การตั้ง “คณะกรรมการสืบสวนชุดพิเศษที่ 26” เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงของกระบวนการ

“ตอนนี้เราทำงานมาแล้ว 90 วัน ทำทุกวัน ทั้งกลางวันและกลางคืน การเลือก ส.ว. มีหลายระดับ ทั้งอำเภอ จังหวัด ประเทศ และมีรูปแบบที่ซับซ้อน ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย” นายแสวงกล่าว

นายแสวง ยืนยันว่า แม้สำนักงาน กกต.จะกำหนดกรอบไว้ 1 ปี ซึ่งขณะนี้เหลือราว 30 วัน แต่หากจำเป็นสามารถขยายเวลาได้ตามกฎหมาย เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วน โดยชี้ว่า กระบวนการพิจารณายังต้องผ่านอีกหลายชั้น ตั้งแต่ระดับสำนักงาน อนุกรรมการวินิจฉัย ไปจนถึงที่ประชุม กกต. และศาล

เมื่อถูกถามถึงข้อสงสัยเรื่องความล่าช้า และความเชื่อมโยงของตนกับผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีฮั้วเลือกตั้ง นายแสวงย้ำว่า ตนในฐานะผู้อำนวยการเลือก ส.ว. ระดับประเทศ ถูกตรวจสอบเช่นกัน และพร้อมชี้แจงกับทุกหน่วยงาน แต่ไม่ตอบโต้ผ่านสื่อ เพื่อเคารพกระบวนการยุติธรรม

“ผมพร้อมให้ตรวจสอบทุกด้าน ไม่เคยปฏิเสธ แต่จะชี้แจงเฉพาะต่อองค์กรที่มีอำนาจ ไม่ตอบผ่านสื่อ เพราะไม่อยากให้เป็นการโต้กันไปมา” นายแสวงกล่าว
 

ส่วนกระแสข่าวที่ว่ากลุ่ม ส.ว. สำรองเรียกร้องให้เลขาธิการ กกต. หยุดปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างที่ถูกตรวจสอบ นายแสวงระบุว่า เป็นสิทธิของผู้ร้อง ซึ่งผ่านการยื่นต่อหลายหน่วยงาน บางแห่งก็พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว

สำหรับกระแสข่าวที่นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ลาออกก่อนครบวาระเนื่องจากแรงกดดัน หรือมี “มือที่มองไม่เห็น” อยู่เบื้องหลัง นายแสวงปฏิเสธว่า “ไม่มีใครบีบ กกต.” ส่วนเรื่องอื่น ๆ นอกเหนือจากนั้นไม่ทราบ

เขายังกล่าวถึงการทำงานของคณะกรรมการไต่สวนชุดที่ 26 ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนสืบสวน ซึ่งหากจะสรุปผลและเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กกต. ในวันที่ 16 มิ.ย. ต้องผ่านชั้นอนุกรรมการก่อน ไม่สามารถข้ามขั้นตอนใดได้ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรม

ทั้งนี้ กกต.ยังไม่กำหนดแนวทางว่าจะพิจารณาคดีนี้แบบแยกรายกลุ่มหรือรวมทั้งหมด โดยขึ้นอยู่กับคณะกรรมการสอบสวนว่าจะเรียกใครเข้าชี้แจง ซึ่งรวมถึงตัวเลขาธิการเองด้วย โดยย้ำว่า “เป็นอิสระ ตรวจสอบกันเป็นชั้น ๆ ไม่ใช่ใครอยากทำอะไรก็ได้”

ข่าวล่าสุด

ภูมิใจไทยงัดข้อเพื่อไทย เก้าอี้มหาดไทยเดือด รัฐบาลสั่นคลอน!