เปิดชื่อ 6 ผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ตรวจการแผ่นดิน รอตรวจคุณสมบัติ
สำนักงานวุฒิสภา เปิด 6 รายชื่อผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ตรวจการแผ่นดิน รอพิจารณาคุณสมบัติก่อนคัดเลือก ก่อนส่งให้วุฒิสภาคัดเลือกต่อไป
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา รายงานผลการรับสมัครผู้เข้ารับการสรรหาเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน (แทนตำแหน่งที่ว่าง) ระหว่างวันที่ 21 เมษายน - 14 พฤษภาคม 2568
สรุปผลการรับสมัคร มีรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการสรรหา รวมจำนวน 6 คน ดังนี้
1.พลตำรวจโท สรายุทธ สงวนโภคัย อายุ 60 ปี อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
2.นายขจรเดช เจนวัฒนานนท์ อายุ 62 ปี อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค 7
3.นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ อายุ 63 ปี อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี
4.นายรักษเกชา แฉ่ฉาย อายุ 65 อดีตเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
5.นายทรงพล สุขจันทร์ อายุ 64 ปี อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา
6.นายชัยยศ ปัญจบุตรชัย อายุ 66 ปี อดีตอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญามีนบุรี
ขั้นตอนต่อจากนี้ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินจะดำเนินการส่งรายชื่อผู้สมัครไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560
รวมทั้งตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ของผู้สมัครแล้วรายงานผลการตรวจสอบดังกล่าว พร้อมทั้งรายชื่อผู้สมัคร แบบใบสมัคร รวมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบการสมัครต่อคณะกรรมการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดิน
หลังจากนั้น จะเชิญผู้สมัครที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายบัญญัติมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือสัมภาษณ์ผู้สมัครต่อไป
ทั้งนี้ ขอเชิญส่งข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้สมัครมายังคณะกรรมการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ที่ ตู้ ปณ. 9 ปณฝ. รัฐสภา กรุงเทพฯ 10305 และทางเว็บไซต์ www.senate.go.th ภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2568
สำหรับ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน”หรือ “ออมบุดสแมน” (Ombudsman) คือบุคคลผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน จำนวน 3 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคําแนะนําของวุฒิสภา มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน หรือไม่เป็นธรรมต่อประชาชน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติมาตรา 230 ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
1.เสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคําสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานใดๆ บรรดาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม แก่ประชาชน หรือเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จําเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ
2.แสวงหาข้อเท็จจริงเมื่อเห็นว่า มีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม อันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอํานาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมนั้น
3.เสนอต่อ ครม. ให้ทราบถึงการที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ
4.ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ดําเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินตามข้อ 1 หรือข้อ 2 โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบเพื่อพิจารณาสั่งการ ตามที่เห็นสมควรต่อไป
5.ในการดําเนินการตามข้อ 1 หรือข้อ 2 หากเป็นกรณีที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดําเนินการต่อไป
ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้ เมื่อเห็นว่ามีกรณีดังต่อไปนี้
1.บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
2.กฎ คําสั่ง หรือการกระทําอื่นใดของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีปัญหา เกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง และให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง