posttoday

หัวหน้าสถาปนิกผู้ออกแบบโต้เดือด! ค้านรีโนเวทรัฐสภา ชี้เปลืองงบ

08 พฤษภาคม 2568

“ชาตรี ลดาลลิตสกุล” ศิลปินแห่งชาติ หัวหน้าสถาปนิกผู้ออกแบบรัฐสภาโต้เดือด! ค้านรีโนเวทรัฐสภา หวั่นกระทบโครงสร้าง-เสียอัตลักษณ์ สิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น

ศาสตราจารย์ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ รองประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา และประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะสร้างสรรค์ รับหนังสือจากนายชาตรี ลดาลลิตสกุล ศิลปินแห่งชาติ และนายปิยเมศ ไกรฤกษ์ ในฐานะสถาปนิกผู้ออกแบบอาคารรัฐสภา ที่มายืนหนังสือโรงคัดค้านแผนปรับปรุงอาคารรัฐสภา ชี้การถมสระมรกตเพื่อสร้างห้องสมุดและร้านค้า อาจกระทบต่อโครงสร้างอาคาร ระบายอากาศเสียหาย และสิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น

 

กังวลโครงสร้าง-ระบบอากาศเสียหาย หากถมสระมรกต

 

นายชาตรีระบุว่า การถม “สระมรกต” เพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่ห้องสมุดและร้านค้านั้น ไม่เพียงกระทบต่อระบบสถาปัตยกรรมที่ออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน หากแต่ยังเสี่ยงทำให้เกิดความเสียหายเชิงโครงสร้าง และทำลายระบบระบายอากาศธรรมชาติของอาคาร

 

“ตอนออกแบบ อาคารนี้เน้นการประหยัดพลังงาน ใช้สระน้ำระบายความร้อนแบบธรรมชาติ ถ้าถมแล้วต้องติดแอร์หมด จะเปลืองงบมาก ทั้งค่าก่อสร้างและค่าไฟฟ้า”  

 

เขายังกล่าวว่า ระบบสระมรกตมีการออกแบบให้ใช้คลอรีนหรือเกลือแบบเดียวกับสระว่ายน้ำทั่วไป หากดูแลอย่างถูกต้อง ยุงจะไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้ และปัญหาน้ำรั่วซึมที่เป็นเหตุผลในการถมนั้น ควรอยู่ในความรับผิดชอบของผู้รับเหมาก่อสร้าง เนื่องจากยังอยู่ในระยะประกันงาน

หัวหน้าสถาปนิกผู้ออกแบบโต้เดือด! ค้านรีโนเวทรัฐสภา ชี้เปลืองงบ

 

ชี้ห้องสมุด 100 ล้านยังใช้งานไม่คุ้ม

 

หัวหน้าสถาปนิกยังวิจารณ์ว่า การย้ายห้องสมุดจากชั้น 9-10 ลงมาชั้น 1 เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงของประชาชน ไม่ได้สอดคล้องกับการใช้สอยที่แท้จริง เพราะผู้ที่ใช้งานห้องสมุด ส่วนใหญ่เป็น สส. และ สว. และข้าราชการสภา หากต้องการให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ก็ไม่ควรย้ายมาบริเวณสระมรกต ควรสร้างนอกอาคาร ห้องสมุดเดิมใช้งบประมาณไปกว่า 100 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้ถูกใช้งานเต็มศักยภาพ พร้อมชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงพื้นที่โดยไม่มีการปรึกษาผู้ออกแบบ อาจนำไปสู่การใช้งบประมาณจำนวนมากโดยขาดความคุ้มค่า

 

“ศาลาแก้ว” ก็ไม่รอด! ค้านรีโนเวทเช่นกัน

 

สำหรับ “ศาลาแก้ว” อีกหนึ่งจุดที่จะมีการใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อปรับปรุง นายชาตรียืนยันไม่เห็นด้วยเช่นกัน โดยชี้ว่า ศาลาแก้วออกแบบมาเพื่อพิธีการสำคัญของรัฐสภา ใช้ผ้าใบเคลือบอะลูมิเนียมกันความร้อนแทนการติดแอร์ และมีระบบเลื่อนปิดกระจกด้วยไฟฟ้า พร้อมออกแบบให้แสดงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไทยอย่างชัดเจน

 

“นี่ไม่ใช่แค่สถาปัตยกรรม แต่คือผลงานศิลปะร่วมสมัย ที่แสดงจิตวิญญาณของความเป็นไทยสู่สายตาชาวโลก”

หัวหน้าสถาปนิกผู้ออกแบบโต้เดือด! ค้านรีโนเวทรัฐสภา ชี้เปลืองงบ

 

 

ติงโครงการปรับปรุงไม่ได้ปรึกษาทีมออกแบบเดิม

 

นายชาตรียังเผยว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ตนไม่เคยออกมาแสดงความเห็นต่อสาธารณะ เพราะเห็นว่าการไม่เห็นด้วยอาจก่อให้เกิดปัญหา แต่เมื่อมีการนำงบประมาณก้อนใหม่มาปรับปรุงอาคารโดยไม่ปรึกษาผู้ออกแบบเดิม และเกิดผลกระทบต่อแนวคิดหลักของอาคาร จึงตัดสินใจออกมาแสดงจุดยืน

 

แม้จะถูกถามว่า การเปลี่ยนแปลงบางส่วนผิดกฎหมายหรือไม่ นายชาตรีระบุว่า ไม่ถือว่าผิด เนื่องจากรัฐเป็นเจ้าของงาน แต่ควรเคารพและปรึกษาผู้ออกแบบเดิมในโครงการที่มีอัตลักษณ์เช่นนี้

 

หวั่นปัญหาน้ำท่วมจากการสร้างที่จอดรถใหม่

 

สำหรับแผนก่อสร้างที่จอดรถเพิ่มเติม นายชาตรีเตือนว่า ต้องระมัดระวังเรื่องน้ำท่วม แม้จะยืนยันว่าอาคารรัฐสภาป้องกันน้ำท่วมระดับ 4 เมตรได้ดี แต่พื้นที่รอบข้างบางจุดยังเสี่ยง

ข่าวล่าสุด

คลัง-ธอส. อัดฉีด 1.5 แสนล้าน กระตุ้นอสังหาฯ ครึ่งปีหลัง