มติเอกฉันท์ ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง บีทีเอส ขอให้วินิจฉัยป.ป.ช. ชี้มูลมิชอบ
ศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสาร31ก.ค. ระบุ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง บีทีเอส ขอวินิจฉัย ป.ป.ช. ใช้ดุลพินิจ ไม่เที่ยงธรรม ชี้มูลโดยมิชอบ ศาลระบุ หากเห็นว่า ถูกละเมิดสิทธิ ไปร้องศาลอื่นได้
วันที่ 31ก.ค. ศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสารข่าว บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) และคณะ(ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา213
บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และคณะ (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ
พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า การกระทำของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ผู้ถูกร้อง) ที่นำข้อเท็จจริงเรื่องเดียวกันกับที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ร้องทั้งสามขึ้นไต่สวนอีกครั้ง ไต่สวนเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และมีมติวินิจฉัยขี้มูลความผิดผู้ร้องทั้งสาม เป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม มีอคติ ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2561 มาตรา 23 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 26 และมาตรา 29 และสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดหรือยกเลิกการกระทำที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องทั้งสาม
ผลการพิจารณา
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องเป็นการที่ผู้ถูกร้องมีมติชี้มูลความผิดและการไต่สวนผู้ร้องทั้งสาม อันเป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย หากมีการกระทำผิดขั้นตอนใดและผู้ร้องทั้งสามเห็นว่า เป็นการกระทำละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ ผู้ร้องทั้งสาม สามารถใช้สิทธิตามกระบวนการยุติธรรมต่อศาลอื่นได้ เป็นกรณีที่รัฐธธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญญนูญได้กำหนด กระบวนการร้องหรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ตามพระระราชบัญญัติ
ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 47 (2) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย