posttoday

สว.พร้อมรับไม้ต่อ ถกร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ย้ำ เสร็จทันก่อนมีสว.ชุดใหม่

28 มีนาคม 2567

แม้พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ผ่านความเห็นในชั้น สส.มาแล้ว แต่กยังมีด่าน สว.ต้องพิจารณาอีก3 วาระ เนื่องจากเป็น กฎหมายที่หลายฝ่ายจับตามอง ฟังจาก คำนูณ สิทธิสมาน สว. ที่พูดถึงกรอบเวลาเบื้องต้น ให้ความมั่นใจว่า กฎหมายฉบับนี้ น่าจะเสร็จทันในสว.ชุดนี้อย่างแน่นอน

KEY

POINTS

  • นายคำนูณ สิทธิสมาน สว. ระบุ สว.พร้อมพิจารณา พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม หลังจากที่ผ่านความเห็นจากที่ประชุมสส.มาแล้ว
  •  พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม น่าจะพิจารณาแล้วเสร็จในสว.ชุดนี้ ก่อนที่จะมีสว.ชุดใหม่ทั้ง 200 คนเข้ามาทำหน้าที่ต่อ  

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา(สว.) ให้สัมภาษณ์ถึง ร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม ที่เพิ่งผ่านความเห็นจากสส.ด้วยคะแนนเสียง 400 ต่อ 10 จากนั้นจะส่งเข้าชั้นวุฒิสภา เพื่อพิจารณาว่า เข้าใจว่าร่างกฎหมายดังกล่าว น่าจะบรรจุก่อนปิดสมัยประชุมนี้ อาจจะเป็นวันที่ 2เม.ย.หรือวันที่ 9 เม.ย. ก่อนหน้านี้ กรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาฯ ได้ประชุม เตรียมตั้งกรรมาธิการไว้เรียบร้อย ซึ่งมีสัดส่วนมาจากสว. ประชาชนผู้เสนอร่างกฎหมาย และจากคณะรัฐมนตรี ตามสัดส่วนน่าจะมีกรรมาธิการ 27 คน

เนื่องจากจะมีการปิดสมัยประชุม 9 เม.ย. สว.คงจะประชุม พิจารณารับหลักการในวาระที่ 1 ขณะที่กรรมาธิการฯจะทำงานในช่วง ปิดสมัยประชุม เพื่อให้เสร็จสิ้น แล้วให้สมาชิกวุฒิสภา พิจารณาวาระที่ 2-3  ดังนั้นเมื่อเปิดสมัยประชุมหน้า ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม เมื่อดูตามตารางเวลา สว.ชุดนี้ยังทำหน้าที่รักษาการ ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เพราะก่อนที่ กกต.จะประกาศรับรอง สว.ชุดใหม่ทั้ง 200 คน หมายความว่า ถ้าเปิดสมัยประชุมเดือนกรกฎาคม สว.มีเวลาประชุม 2 สัปดาห์ พยายามนำร่างกฎหมายที่ตั้ง กรรมาธิการไว้ เมื่อแล้วเสร็จ เข้าสู่ในที่ประชุมสว.

นายคำนูณกล่าวว่า พยายามทำให้กฎหมายฉบับนี้เสร็จสิ้น ทันในวาระของสว.ชุดนี้ หากไม่แล้วเสร็จ อาจจะมีปัญหาทางกฎหมาย เพราะกว่าที่ สว.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่เรียบร้อย คงใช้เวลาอีกระยะ เมื่อใช้เวลาอีกระยะ การจะพิจารณาวาระ 2-3 ได้อย่างไร เพราะยังไม่มี สมาชิกในส่วนนี้ และในกรรมาธิการชุดเก่าที่กำลังพิจารณา อาจมีปัญหาทางข้อกฎหมาย เพราะสว.ชุดใหม่ ต้องตั้งกรรมาธิการ ขึ้นมาพิจารณาอีก อาจทำให้กฎหมายขาดความต่อเนื่อง 

เมื่อถามว่า พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม น่าจะผ่านในชั้น สว.ไปได้เหมือนกับสส. นายคำนูณกล่าวว่า โดยปกติ ร่างกฎหมายใดที่ สภาผู้แทนราษฎรเสนอเข้า และรับหลักการในวาระแรก สว.จะมอบให้ กรรมาธิการของสว.ในชุดที่เกี่ยวข้อง พิจารณาศึกษาควบคู่กันไป เมื่อเข้ามาในวาระ1 ของสว. กรรมาธิการชุดนั้นๆ จะทำหน้าที่รายงานให้ความเห็นเบื้องต้น ในเรื่องนี้ น่าจะมีกรรมาธิการหลายชุดได้พิจารณาอยู่ หนึ่งในนั้นคงเป็น กรรมาธิการฯชุดนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เข้าใจว่า นายวัลลภ น่าจะเป็น 1 ใน 27 กรรมาธิการที่จะตั้งมา

สว.ตระหนักดี ร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นฉบับที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มีเสียงส่วนใหญ่ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน มีเสียงเห็นพ้องต้องกัน ฝ่ายสว.ย่อมตระหนักดี นอกจากนั้นในชั้นกรรมาธิการฯ ยังมีตัวแทนประชาชนที่ร่วมเสนอกฎหมาย มีตัวแทนของรัฐบาลที่เข้ามาชี้แจงอยู่แล้ว ไม่น่ามีปัญหาอะไร

ถามอีกว่า ตามความเห็นอยากเสนอแนะอะไรเพิ่มเติม หรือเป็นห่วงบางแง่มุมของกฎหมายฉบับนี้บ้างหรือไม่ นายคำนูณตอบว่า เนื่องจาก ไม่ได้ศึกษาร่างกฎหมายฉบับนี้มาตั้งแต่ต้น คงจะให้ความเห็นเชิงรายละเอียดไม่ได้ แต่โดยปกติ เมื่อมาถึงชั้นวุฒิสภา จะพิจารณาอย่างรอบคอบ อาจมีบ้างที่ไปแก้ไข ปรับปรุงร่างของสภาผู้แทนราษฎร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องคำนึงถึงภาพรวมเป็นหลัก โดยส่วนตัวขอให้ดูรายละเอียดก่อน รวมถึงใครจะมาเป็นกรรมาธิการบ้าง เมื่อตั้งกรรมาธิการแล้ว มีกรอบการทำงานอย่างไร ใครเป็นประธาน เดี๋ยวค่อยไปตามตรงนั้น ตอนนี้ให้ความเห็นในภาพรวมไปก่อนว่า ถึงอย่างไรน่าจะผ่านวาระที่1 รับหลักการ แล้วไปตั้งกรรมาธิการ พิจารณาช่วงปิดสมัยประชุม ที่มีเวลาเต็มที่ เมื่อเปิดมาก็ต้องรีบเอาเข้า ส่วนจะเป็นปัญหาแค่ไหน ขอให้รอฟังความเห็นจากหลายๆคนในชั้นกรรมาธิการก่อน