posttoday

ปดิพัทธ์ ลุยทำเนียบ จี้ นายกฯไม่ยอมลงนามกฎหมาย ส่งสภาฯ บี้ รัฐมนตรีตอบกระทู้

01 มีนาคม 2567

ปดิพัทธ์ รองประธานสภาฯ บุกทำเนียบ ทวงถาม นายกฯไม่ยอมลงนามกฎหมายการเงิน ยังไม่ส่งไปสภาฯ ปัด รุกล้ำฝ่ายบริหาร เผย แค่มาถามขั้นตอนเสนอกฎหมายอยู่ในขั้นตอนใด ขอหารือทางออกร่วมกัน ไล่บี้ รัฐมนตรี ไปตอบกระทู้ในสภาฯ เผย หากมีภารกิจ ขอให้ชี้แจงให้ชัด ไม่ใช่ระบุแค่ ติดภารกิจ

KEY

POINTS

  • ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล
  • ทวงถาม กฎหมายที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ยังไม่ลงนาม ส่งไปยังสภาฯ
  • พร้อมกับเรียกร้อง รัฐมนตรี ให้เดินทางไปตอบกระทู้ในสภาฯ เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน 

ที่ทำเนียบรัฐบาล​ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา​ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง และข้าราชการจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทน​ราษฎร​ เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามถึงร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน 31 ฉบับ

นายปดิพัทธ์​ ให้สัมภาษณ์ว่า จากที่เคยสอบถามถึงสาเหตุที่นายกรัฐมนตรีไม่ลงนามรับรองร่างกฎหมาย เนื่องจากต้องรอรับความคิดเห็นจากหน่วยงาน แต่เมื่อไม่มีรายละเอียดบอกว่าแต่ละร่างรอหน่วยงานไหนอย่างไร ไม่ทราบถึงขั้นตอน จึงอยากรู้ว่าจะทำอย่างไรกันดี จึงมาขอหารือกับทางสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ส่วนจะได้เจอใครหรือไม่นั้นไม่เป็นอะไร เพราะเพียงแค่อยากมารู้ขั้นตอน เพราะเป็นเรื่องดีที่ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติจะได้หารือกัน

เมื่อถามถึงกรณีที่ สส.เพื่อไทย มองว่าการที่รองประธานสภาฯ เดินทางมาเป็นการรุกล้ำอำนาจฝ่ายบริหารและเกินหน้าที่​ นายปดิพัทธ์กล่าวว่า ไม่ได้มากดดันให้เซ็น​ ไม่ได้รุกล้ำ หากไม่ให้ความเห็นชอบจะดีกว่า​ ไม่อย่างนั้นจะไม่ชัดเจน​ เจ้าของร่างก็ไม่รู้ว่าจะต้องปรับปรุงร่างของตัวเองหรือไม่ ดังนั้นอาจจะต้องมีการปรับปรุงอย่างไรก็ควรจะบอกมา แต่หากเราไปเรื่อยๆ และขณะนี้ 6 เดือนกว่าแล้ว ฉะนั้นการจะตีร่างฯการเงิน ถือว่ามีขอบเขตที่กว้างมาก พร้อมยกตัวอย่าง ร่างฯรับราชการทหารและการถ่ายโอนกำลังพล​ และร่างฯกฎหมาย PRTR (Pollutant Release and Transfer Register)  และร่างฯ เปิดเผยข้อมูลมลพิษถูกตีความว่าเป็นร่างฯการเงิน ฉะนั้นการจะตีความร่างฯอย่างไรเราต้องการความชัดเจนในเรื่อง

เมื่อถามว่าที่ฝ่ายการเมืองมองว่าการทำเช่นนี้ เป็นการทำในฐานะส่วนตัวใช่หรือไม่นายปดิพัทธ์กล่าวว่า สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ สถานการณ์ในการพิจารณากฎหมาย มีหลายอย่างที่บางร่างฯไม่เข้าสภาฯสักที หากสภาฯทำได้เพียงแค่รอร่างฯจากรัฐบาลก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดหลักการสากล​ 

ถามย้ำว่า เป้าหมายการเดินทางมาทำเนียบรัฐบาล อยากจะเห็นภาพอะไร นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า หากได้เจอฝ่ายบริหารของทำเนียบ คงเป็น 3 ประเด็นที่สื่อมวลชนและประชาชนกังวล เกี่ยวกับการทำงานร่วมกันระหว่างสภาฯกับรัฐบาล อาทิ ท่าทีของประธานวิปรัฐบาล ที่เรียกร้องให้เข้ามาตอบกระทู้ รวมถึงขั้นตอนทางธุรการต้องเนี้ยบกว่านี้ ควรระบุให้ชัดเจนว่าติดภารกิจอะไร ไม่ใช่ตอบโต้กันผ่านเพียงหน้าสื่อมวลชนเท่านั้น ตนไม่ได้ไร้เดียงสา เพราะมันมีจังหวะทางการเมืองที่จะทำให้ร่างฯกฎหมายไหนเข้าหรือไม่เข้า แต่อย่างน้อยต้องโปร่งใสตรงไปตรงมาว่า ติดเรื่องอะไรบ้าง

เมื่อถามว่า สมาชิกพรรคเพื่อไทยมองว่าเป็นเรื่องของมารยาท นายปดิพัทธ์กล่าวว่า ขอถามกลับว่า การที่จะมาทำงานร่วมกันเพื่อทำงานให้ดีขึ้นมันผิดมารยาทตรงไหน​ เข้ามาปิดทำเนียบหรือ​ มาแบบไม่สุภาพหรือ​ แต่เข้ามาเพื่อขอความร่วมมือและหาทางออกในการพิจารณากฎหมายให้ประเทศชาติ​ แต่ถ้าหากมองว่าเป็นการลุกล้ำก็มีสิทธิ์ที่จะวิจารณ์ แต่ยืนยันว่าตนมาด้วยเจตนาบริสุทธิ์

นายปดิพัทธ์ยังกล่าวถึงกรณี รัฐมนตรีไม่มาตอบกระทู้ในสภาฯว่า แม้ข้อบังคับการประชุมสภาฯ ระบุว่า หากรัฐมนตรีไม่มาตอบต้องชี้แจงเป็นหนังสือ บางท่านก็ชี้แจงละเอียด แต่บางท่านก็ชี้แจงไม่ละเอียดแค่บอกว่าติดภารกิจ ดังนั้น ต่อจากนี้อยากให้ชี้แจงชัดเจนขึ้น อีกประเด็นคือเรื่องความเดือดร้อนประชาชนที่ส่งมาที่ทำเนียบฯ หลังจากมีหารือในการประชุมสภาฯ ตรงนี้เราจะติดตามได้อย่างไร เนื่องจากประธานสภาฯ ร้อนใจว่าเรื่องหารือมีการตอบรับน้อย และจะสื่อสารกับประชาชนอย่างไร
    
นายปดิพัทธ์กล่าวอีกว่า การหารือในครั้งนี้เพื่อติดตาม​ว่าขั้นตอนการเสนอกฎหมายอยู่ในขั้นตอนใด​ และเป็นการกระตุ้นให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวง​ รับทราบถึงศักยภาพของหน่วยงาน​ นอกจากนี้ยังมีการหารือถึงการตอบกระทู้ของรัฐมนตรี หากไม่มาขอให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุผล