posttoday

ตามคาด"ธีรยุทธ สุวรรณเกษร"ยื่นยุบก้าวไกลปมล้มล้างการปกครอง

01 กุมภาพันธ์ 2567

'ธีรยุทธ สุวรรณเกษร'ยื่นคำร้องกกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบก้าวไกลหลังมีคำวินิจฉัยชูแก้112หาเสียงล้มล้างการปกครอง

นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยยุติการกระทำของพรรคก้วไกล กรณีหาเสียงแก้ไขมาตรา 112 เดินทางที่ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ กกต. ให้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ศาลพิจารณาสั่งยุบพรรคก้าวไกลหลังจากเมื่อคืนนี้ได้ถอดเทปและอ่านคำวินิจฉัยอย่างละเอียดจึงเห็นว่าในฐานะที่เป็นผู้ร้องมาก่อน ควรดำเนินการให้ครบถ้วน ตามสิทธิพึงมีตามรัฐธรรมนูญ

โดยวันนี้ได้นำคำร้อง 11 แผ่น , คำถอดเทปคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 11 แผ่น รวมถึงเอกสารประกอบอีก 116 แผ่น มายื่นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 92 วรรคหนึ่ง อนุหนึ่ง เพื่อพิจารณาให้สั่งยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากคำวินิจฉัยควรเชื่อได้ว่าพรรคก้วไกลกระทำการล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงขอให้ กกต.ดำเนินการกับพรรคก้าวไกล ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัย 

เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายธีรยุทธ กล่าวว่า ก็เป็นไปตามพยานหลักฐานที่เกิดจากการกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกลเอง ซึ่งก่อนหน้านี้วัตถุประสงค์หลักครั้งแรก คือ ขอให้ศาลเมตตาพิจารณาสั่งการให้หยุดการกระทำหรือเลิกเสีย แต่ด้วยหลายปัจจัย และหลังอ่านคำวินิจฉัยโดยละเอียดจึงเห็นว่า เมื่อเป็นผู้ร้องมาก่อนย่อมมีผลผูกพันกับคำวินิจฉัยของศาลโดยตรง กระบวนการต่อไปจึงดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยนั้น จึงจำเป็นต้องยื่นคำร้องต่อ 

เมื่อถามว่า หาก กกต.ส่งเรื่องยุบพรรคให้ศาลรัฐธรรมนูญ กังวลว่าจะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นหรือไม่ นายธีรยุทธ บอกว่า คงไม่ เพราะคำวินิจฉัยของศาลเป็นการวางบรรทัดฐานการเมืองการปกครองของไทย ซึ่งสมาชิกและผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล ก็อยู่ในฐานะที่ต้องปฏิบัติยึดถือบรรทัดฐานที่เกิดขึ้น เพราะเชื่อว่าหลักการนี้ก็อยู่ในข้อบังคับของพรรคก้าวไกลเอง ส่วนจะมีผลกระทบอย่างไร ก็เป็นปัจเจกบุคคลของผู้นั้นที่ต้องระลึกถึงบ้าง 
 

ส่วนที่นักวิชาการบางคนมองว่าคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานใหม่ ที่จะไม่สามารถพูดถึงมาตรา 112 ทั้งในและนอกสภาได้อีก นายธีรยุทธ บอกว่า นักวิชาการคนนั้นคงไม่ได้อ่านคำวินิจฉัยของศาลโดยละเอียด ก็ขอให้กลับไปฟังใหม่ เพราะก่อนที่ศาลจะจบคำวินิจฉัย ไม่ได้บอกว่าปิดประตูเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 แต่ต้องเป็นไปตามครรลองนิติบัญญัติโดยชอบ ซึ่งในความหมายของตนต้องเป็นฉันทามติ แต่คนที่คิดแก้ไขมาตรา 112 ศาลชี้แล้วว่า มีเจตนาซ่อนเร้นอย่างอื่นอันมีนัยยะสำคัญ 

ขณะเดียวกันศาลยังใช้เวลาในการประชุมเรื่องนี้ถึง 62 ครั้ง ดังนั้นการทำวินิจฉัยจึงมีความละเอียด รอบด้าน มีข้อมูลจากหลายหน่วยงานของรัฐเกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายความมั่นคง สำนักงานตำรวจแหางชาติ และสำนักงานศาลยุติธรรม