posttoday

พลิกปูม'ปกรณ์ นิลประพันธ์'ในกระแสจ่อถูกดีดพ้นเก้าอี้'เลขากฤษฎีกา'

11 มกราคม 2567

เปิดประวัติ 'ปกรณ์ นิลประพันธ์' ศิษย์ก้นกุฎิ 'มีชัย-วิษณุ' รัฐบาลเพื่อไทย นายกฯเศรษฐาจ้องกดปุ่มดีดพ้นเก้าอี้เลขากฤษฎีกา จากปมคำถามที่ได้คำตอบไม่ชัดเจนในความเห็นข้อกฎหมายกู้เงิน5แสนล้านเพื่อนโยบายแจกดิจิทัล10,000 บาทได้หรือไม่

ชื่อปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ปรึกษากฎหมายรัฐบาล กำลังเป็นที่จับตาคอการเมือง ท่ามกลางข่าวลือว่า รัฐบาลนายกฯเศรษฐา ทวีสิน อาจไม่ต่ออายุงานหลังจากเกิดปมขัดแย้งกับรัฐบาล กรณีกฤษฎีกา คณะ 12 ส่งความเห็นแบบไร้คำตอบในคำถามของรัฐบาลที่ว่า การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทตามนโยบายของรัฐบาลควรออกเป็น พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก.

ความเห็นของกฤษฎีกาว่ากันว่าทำให้ถึงขนาดที่นายกฯเศรษฐา ควันออกหู โดยเฉพาะวรรคท้ายที่ระบุว่า “หากรัฐบาลไม่ทำตามเงื่อนไข ของมาตรา 53, 57 รวมถึงมาตรา 6, 7, 9, 49 ของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง และทำให้เห็นเป็นเชิงประจักษ์ การกู้เงินโดยกระทรวงการคลัง ไม่สามารถกระทำได้”

แม้รัฐบาลเพื่อไทย - นายกเศรษฐา ไม่สามารถกดปุ่มดีด'ปกรณ์ นิลประพันธ์' ออกจากเก้าอี้เลขากฤษฎีกาได้ในทันที ทว่าการส่งสัญญาณเมื่อคราวประชุมครม.ซึ่งมีข้อสั่งการไม่ต่ออายุข้าราชการที่เกษียณฯ ย่อมพุ่งเป้าไปที่ “ปกรณ์”หลีกเลี่ยงเสียมิได้ เพราะได้รับการแต่งตั้งมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลประยุทธ์ เข้าดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี2563จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในช่วงต้นปี2567  ซึ่งปกติตำแหน่งเลขาฯกฤษฎีกา จะต่ออายุได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี สามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 6 ปี 

พลิกปูมประวัติ 'ปกรณ์ นิลประพันธ์' จบการศึกษาระดับปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท นิติศาสตรมหาบัณฑิต เกี่ยวกับกฎหมายวิธีปฏิบัติทางการค้า ที่ The University of Sydney ประเทศออสเตรเลีย เป็นลูกศิษย์ก้นกุฎิ“อ.มีชัย ฤชุพันธุ์” และ“อ.วิษณุ เครืองาม” เนติบริกรชั้นครู

ผ่านการอบรมหลายหลักสูตร เช่น หลักสูตร Train the Trainers ด้านกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำหรับผู้บริหารกระบวนการยุติธรรม รุ่นที่ 1, หลักสูตรผู้บริหารงานด้านกฎหมายภาครัฐ ระดับสูง รุ่นที่ 1 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, หลักสูตรนักบริหารการงบประมาณระดับสูง รุ่นที่ 1 สำนักงานงบประมาณ รวมถึงหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รุ่นที่ 2

นอกจากนี้ยังมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม มีประสบการณ์ด้านการกำกับการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเคมี รวมถึงการร่างกฎหมาย ให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาทางกฎหมายสำหรับอุตสาหกรรมเคมี

ประวัติการทำงาน เคยดำรงตำแหน่ง ผอ.สถาบันกฎหมายพัฒนาเศรษฐกิจ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ผอ.ฝ่ายพัฒนากฎหมาย, ผอ.สำนักกฎหมายต่างประเทศ, กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, รอง ผอ.สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี, ผอ.สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) และปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาและกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักนายกรัฐมนตรี

ก่อนกระแสข่าวหนาหู รัฐบาลเพื่อไทย-นายกฯเศรษฐา จ้องกดปุ่มดีด'ปกรณ์'พ้นจากเก้าอี้เลขาฯกฤษฎีกา เขาได้ตอบประเด็นเรื่องความเห็นข้อกฎหมายปมกู้เงิน5แสนล้านบาทเพื่อนำไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต10,000บาท กรณีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ออกมาระบุว่ากฤษฎีกาไฟเขียวว่า

“ผมเข้าใจว่า รัฐมนตรีช่วยไม่ได้ใช้คำว่าไฟเขียวนะ เพราะผมเองก็ไม่ใช่ตำรวจจราจร แต่ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขก็ทำได้ ไม่เป็นปัญหาอะไร ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในเชิงประจักษ์ว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือเปล่า”และย้ำว่าทุกรัฐบาลไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลนี้การจะทำอะไร ต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายที่ถูกต้อง