posttoday

เปิดประวัติ 'นครินทร์ เมฆไตรรัตน์' ว่าที่ประธานศาลรธน.คนใหม่

10 มกราคม 2567

มติตุลาการศาลรธน.ข้างมาก โหวต5เสียงเลือก ‘นครินทร์ เมฆไตรรัตน์’ นั่งว่าที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ เปิดประวัติเคยเป็น1ใน3 ตุลาการเสียงข้างน้อย คดีนายกฯ8ปี ให้ประยุทธ์พ้นจากตำแหน่ง 24ส.ค.65 โดย"ยึดเจตนารมณ์ รัฐธรรมนูญ ป้องกันผูกขาดอำนาจบริหาร"

เมื่อ10ม.ค.2567 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้แก่ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม รักษาการประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน นายจิรนิติ หะวานนท์ นายนภดล เทพพิทักษ์ นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ และนายอุดม รัฐอมฤต มีการประชุมเพื่อพิจารณาเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่แทนนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่หมดวาระลงเมื่อ 9ก.ย.2566 

ผลการโหวตปรากฎว่า นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ได้คะแนน 5 เสียง นายจิรนิติ หะวานนท์ ได้ 2 เสียง และนายปัญญา อุดชาชน ได้ 2 เสียงจึงเท่ากับว่า นายนครินทร์ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดโดยขั้นตอนหลังจากนี้จะแจ้งเรื่องไปยังประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญ
 

สำหรับนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ว่าที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2558 เกิดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 ปัจจุบันอายุ 66 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาการเมืองการปกครอง (เกียรตินิยมอันดับ 2) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ระดับปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาเอก International Studies Waseda University ประเทศญี่ปุ่น

ก่อนมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมในปี2558 นายนครินทร์ เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ, กรรมการอื่นใดในคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล, รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร

นอกจากนี้ ยังดำรงตำแหน่ง รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ด้านการเมือง), รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ศูนย์ท่าพระจันทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

สำหรับนายนครินทร์ เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 1ใน 3 เสียงข้างน้อยที่วินิจฉัยว่าสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ โดยให้พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่เมื่อวันที่ 24ส.ค.2565 เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ซึ่งสาระสำคัญของคำวินิจฉัยส่วนตนของนายนครินทร์ ให้เหตุผลในคำวิจิฉัยว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้อง"ยึดเจตนารมณ์ รัฐธรรมนูญ ป้องกันผูกขาดอำนาจบริหาร"(คลิ๊กอ่านเพิ่มเติม)