posttoday

ระบบเตือนภัยฉุกเฉินสาธารณะของไทย คำถามและแนวโน้มในอนาคต

10 พฤษภาคม 2567

ระบบเตือนภัยฉุกเฉินสาธารณะของไทยใกล้เข้ามาอีกขั้น เมื่อกำลังจะมีการชงเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อของบประมาณจัดตั้ง วันนี้เราจึงมาพูดถึงถึงระบบ Cell Broadcast ที่กำลังจะใช้งาน ตั้งแต่จุดเด่น จุดด้อย รวมถึงแนวโน้มการพัฒนาในอนาคต

หลังจากข้อเรียกร้องเป็นเวลานานจากภาคประชาชนต่อการแจ้งเตือนภัยของภาครัฐ ภายหลังเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ในที่สุดระบบเตือนภัยฉุกเฉินสาธารณะของไทยก็เริ่มได้รับการพัฒนาเป็นรูปร่าง จากความร่วมมือของสองผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในประเทศผ่านระบบ Cell Broadcast ที่จะกระจายการแจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์มือถือ

 

          ล่าสุดเราใกล้ความจริงไปอีกขั้นเมื่อมีการเปิดเผยจาก นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เตรียมเสนอโครงการระบบแจ้งเตือนภัยเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบในการใช้งบประมาณจัดตั้ง 434 ล้านบาท หากได้รับการอนุมัติระบบก็จะพร้อมสำหรับการใช้งานในไม่ช้า

 

          วันนี้เราจึงมาพูดถึงรายละเอียดของระบบ Cell Broadcast ที่กำลังจะมีการใช้งานกันเสียหน่อย

 

ระบบเตือนภัยฉุกเฉินสาธารณะของไทย คำถามและแนวโน้มในอนาคต

 

Cell Broadcast คืออะไร? ดีตรงไหน?

 

          แรกสุดคงต้องพูดถึงกลไกการทำงานกันเสียก่อน Cell Broadcast คือ ระบบส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือหลายเครื่องพร้อมกัน โดยอาศัยการส่งข้อมูลผ่านเสาสัญญาณเครือข่ายภายในพื้นที่แล้วจึงกระจายเข้าสู่โทรศัพท์มือถือภายในเขตสัญญาณของพื้นที่นั้นๆ

 

          ระบบนี้แตกต่างจากการส่งข้อความผ่านเครือข่ายมือถือแบบที่เราคุ้นเคยกันดีอย่าง SMS ตรงที่ ผู้ส่งไม่จำเป็นต้องทราบหรือระบุหมายเลขปลายทางของเป้าหมาย แต่จะทำการส่งข้อความผ่านเสาสัญญาณเครือข่าย เพื่อให้ข้อความนี้สามารถกระจายเข้าสู่โทรศัพท์มือถือในพื้นที่โดยตรง ผ่านเสียงสัญญาณเฉพาะที่ทำให้รู้ได้ทันที

 

          ตัวระบบครอบคลุมการส่งข้อความตั้งแต่ 2G ไปจน 5G รองรับการส่งข้อมูลสู่เครื่องทุกชนิดเพราะอาศัยการส่งผ่านคลื่นวิทยุ จึงสามารถส่งข้อความเข้าสู่โทรศัพท์มือถือได้โดยตรงแม้จะเป็นพื้นที่คนพลุกพล่าน โดยไม่สนใจสัญญาณโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ต อีกทั้งยังรองรับการส่งข้อความหาผู้ใช้งานหลายล้านคนในเวลาเพียง 10 วินาที

 

          อีกหนึ่งจุดเด่นสำหรับผู้ใช้งานนอกจากได้รับการแจ้งเตือนอันรวดเร็วคือ การรักษาข้อมูลส่วนตัว ทางผู้ส่งเพียงกระจายข้อความผ่านสัญญาณวิทยุ ทำให้ไม่ทราบจำนวนผู้ได้รับข้อความภายในพื้นที่ เบอร์โทร หรือตำแหน่งปัจจุบันของผู้ได้รับข้อความ จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการสอดแนมหรือข้อมูลส่วนตัวรั่วไหลใดๆ

 

          ปัจจุบันการเตือนภัยฉุกเฉินสาธารณะส่วนใหญ่จึงใช้งาน Cell Broadcast เป็นหลัก ได้รับความนิยมแพร่หลายในหลายประเทศทั้งในอเมริกา ยุโรป หรือเอเชีย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ไทยจะนำระบบนี้มาใช้งาน

 

ระบบเตือนภัยฉุกเฉินสาธารณะของไทย คำถามและแนวโน้มในอนาคต

 

ข้อจำกัดของ Cell Broadcast และขอบเขตการใช้งาน

 

          จริงอยู่ Cell Broadcast มีจุดเด่นมากมายอย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดในบางด้าน เช่น ในกรณีที่โทรศัพท์มือถือปิดการใช้งานหรือแบตเตอรี่หมด รวมถึงเกิดการขัดข้องเสาสัญญาณในบริเวณจนเครือข่ายไม่สามารถให้บริการได้ ก็อาจทำให้การแจ้งเตือนไปไม่ถึงแม้ผู้ใช้งานจะอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ

 

          อันดับต่อมาคือการส่งข้อความผ่านระบบนี้อาศัยการกระจายสัญญาณผ่านเครือข่ายเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ไม่สามารถระบุส่งเป้าหมายแบบกำหนดเจาะจงโดยตรง ทำให้บางครั้งอาจเกิดความสับสนเข้าใจผิดของคนในเขตการส่งสัญญาณนั้นๆ ที่ไม่มีความเกี่ยวข้อง ซึ่งในระยะยาวอาจทำให้เกิดความเฉื่อยชาทางการตอบสนองเมื่อมีอันตรายเกิดขึ้นจริง

 

          สำหรับประเทศไทยเรื่องที่ชวนให้ตั้งคำถามไม่แพ้กันคือ Cell Broadcast จะได้รับการใช้งานสำหรับแจ้งเตือนในกรณีใดบ้าง เราคาดหวังว่าเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินที่อาจเป็นอันตรายอย่างการกราดยิงหรือก่อการร้ายจะได้รับการแจ้งเตือน แต่ที่จริงระบบเตือนภัยฉุกเฉินสาธารณะมีขอบเขตการใช้งานมากกว่านั้น

 

          อ้างอิงจากระบบการแจ้งเตือน Korean Public Alert Service(KPAS) ของเกาหลีใต้มีการใช้งานอย่างหลากหลาย ครอบคลุมตั้งแต่การโจมตีจากต่างประเทศ, กิจกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคง, การซ้อมรบ, ภัยพิบัติ, ภัยธรรมชาติ, การหลุดของสัตว์ดุร้าย, อุบัติเหตุใหญ่, ไฟไหม้, การปิดซ่อมแซมสาธารณูปโภค, สารเคมีรั่วไหล ไปจนการควบคุมโรคระบาด

 

          ด้วยศักยภาพของระบบรองรับการแจ้งเตือนภัยรอบด้าน นำไปสู่การตั้งคำถามว่า ประเทศไทยจะนำระบบนี้มาใช้ถึงระดับไหน จะมีเพียงการแจ้งเตือนเหตุการณ์ร้าย เหตุคุกคามชีวิต หรือภัยธรรมชาติเป็นหลักแบบ J-Alert หรือเป็นช่องทางแจ้งเตือนข่าวสารสู่ภาคประชาชนแบบ KPAS เป็นเรื่องที่เราต้องรอชมต่อไป

 

          อีกหนึ่งข้อกังวลที่เกิดขึ้นไม่แพ้กันคือ การรักษาความปลอดภัย ด้วยนี่เป็นช่องทางในการส่งข้อความและข้อมูลอันตรายตรงเข้าถึงประชาชนโดยตรง กรณีเกิดการแทรกแซงจากภายนอกหรือข้อผิดพลาดจนทำให้เกิดความเข้าใจผิด อาจนำไปสู่การแจ้งเตือนเท็จที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง แบบเดียวกับการแจ้งเตือนจากขีปนาวุธเท็จในฮาวายปี 2018

 

 

 

          สู่อนาคตที่ดีกว่าของ Cell Broadcast

 

          จริงอยู่ Cell Broadcast ถือเป็นระบบที่ได้รับการออกแบบมาได้ครอบคลุมเพื่อแจ้งเตือนทุกคนในบริเวณให้ทั่วถึง อย่างไรก็ตามระบบนี้ยังสามารถพัฒนาต่อยอดเพิ่มเติมให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มขอบเขตการแจ้งเตือนให้ครอบคลุมจนแน่ใจว่าทุกคนจะได้รับการแจ้งเตือน

 

          แรกสุดอาจต้องขยายขอบเขตภาษาในการแจ้งเตือน เพื่อรองรับและแจ้งเตือนชาวต่างชาติในพื้นที่ในกรณีเกิดเหตุหรือภัยพิบัติภายในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้เชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายโทรศัพท์ภายในประเทศ ที่อาจจำเป็นต้องมองหาช่องทางเฉพาะสำหรับแจ้งเตือนพวกเขาด้วยเช่นกัน

 

          อันดับต่อมาคือทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ อาจมีการพัฒนาเพิ่มเติมในการแจ้งเตือน เช่น พัฒนาการสั่นเฉพาะเพื่อแจ้งเตือนผู้มีความบกพร่องทางการได้ยิน หรือพัฒนาระบบอ่านออกเสียงเพื่อรองรับการใช้งานต่อผู้พิการทางสายตาได้สะดวกรวดเร็ว เพื่อให้แน่ใจว่าคนกลุ่มนี้จะเข้าถึงการเตือนภัยฉุกเฉินสาธารณะทันท่วงที

 

          ปัจจุบันระบบ Cell Broadcast อาจทำได้เพียงการส่งข้อความที่มีตัวอักษรค่อนข้างจำกัด แต่ในอนาคตหากมีการพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้นจนสามารถส่งภาพหรือไฟล์วีดีโอเพิ่มเติมได้ อาจช่วยกระจายข่าวสารสู่ผู้ใช้งานได้มากขึ้น เพื่อเพิ่มความเข้าใจและการรับมือสถานการณ์ที่ถูกต้องต่อไป

 

          อีกหนึ่งแนวทางที่อาจมีการปรับปรุงเพิ่มเติมคือ รองรับการแจ้งเตือนอุปกรณ์อัจฉริยะ หากสามารถปรับปรุงการแจ้งเตือนเข้าสู่ฟังก์ชันของอุปกรณ์อัจฉริยะในบ้าน รถ หรืออุปกรณ์สวมใส่ได้สำเร็จ จะยิ่งช่วยเพิ่มการกระจายข่าวสารให้กว้างขึ้น จนทุกคนสามารถเข้าถึงการแจ้งเตือนเหตุด่วนเหตุร้ายได้อย่างพร้อมเพรียง

 

          หากสามารถพัฒนาได้สำเร็จ ระบบนี้จะกลายเป็นแกนหลักในการเตือนภัยและเฝ้าระวังเหตุร้ายในประเทศไทยเลยทีเดียว

 

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.nytimes.com/2018/01/13/us/hawaii-missile.html

 

          https://www.vice.com/en/article/evy75j/researchers-demonstrate-how-us-emergency-alert-system-can-be-hijacked-and-weaponized

 

          https://themomentum.co/report-emergency-alert-south-korea/

 

          https://www.posttoday.com/smart-city/706502

 

          https://www.posttoday.com/business/708610