posttoday

'เรืองไกร'ร้องกกต.สอบ2รมต.เพื่อไทย'สุทิน-ไชยา'ปมถือหุ้นมีพิรุธ

06 พฤศจิกายน 2566

“เรืองไกร”ร้องกกต.สอบ “สุทิน-ไชยา” มีพิรุธถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน ผ่านคู่สมรส เข้าข่ายผิดม. 187 ชงศาลรธน. ฟันพ้นตำแหน่ง ติงป.ป.ช.แสดงเอกสารสแกนเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์กลับหัวกลับหางไม่ครบถ้วนแถมถ่ายเอียงไปเอียงมา สะท้อนคุณภาพจ้างงาน

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ตรวจ นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ และนายสุทิน คลังงแสง รมว.กลาโหมเนื่องจากพบความผิดปกติในการยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน อาจมีการครอบครองหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด เกิน 5 % ตามที่กฎหมายกำหนด เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามเป็นผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว กำหนดครอบคลุมไปถึงคู่สมรสด้วย  

นายเรืองไกร กล่าวว่า นายไชยาได้ยื่นเอกสารต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีรับตำแหน่งรมช.เกษตรฯ เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2566ที่ค่อนข้างแปลก เพราะในวันที่ 16 ก.ย. 2566 ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าปรากฎชื่อคู่สมรส เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีบุญเรืองวัฒนา” ได้รับชำระเงินลงหุ้น เป็นเงิน 400,000 บาท 

ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชื่อของบุตรสาวเพื่อชำระเป็นเงินลงหุ้น โดยแจ้งว่าเป็นการเพิ่มทุนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีบุญเรืองวัฒนา สรุปเป็นการชำระเป็นเงินสดลงหุ้น 400,000 บาท ไว้ โดยไปเอามูลค่าของห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมกำไรสะสม ซึ่งควรจะเป็นของห้าง ไม่ใช่เป็นของตัวเองมายื่น ดังนั้น จึงมีเหตุอันควรตรวจสอบว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 1 - 16 ก.ย.2566ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีเข้าข่ายความผิดมาตรา 187 ว่า รัฐมนตรีต้องไม่คงไว้ซึ่งหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือความเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท จำกัด เกิน 5% พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วน และหุ้นของรัฐมนตรี 2543 คล้ายกับกรณีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ แต่ไม่ได้ร้องท่าน เพราะเห็นว่า เอกสารที่จดไว้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ถ่ายโอนออกไปก่อน แต่คนร้องเข้าว่าท่านโอนในลักษณะนิติกรรมอำพราง สืบพยาน 4 ปาก  

กรณีนายไชยา เป็นหลักฐานที่ภรรยาท่านเซ็นเองและแจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงมีข้อสังเกตว่าทำไมยังเป็นหุ้นส่วนอยู่ ทั้งที่ความเป็นหุ้นส่วน ผู้จัดกรควรมาจากคนที่เป็นหุ้นส่วน ถ้าโอนให้ลูกสาวแล้ว ก็ควรเป็นลูกสาวที่เป็นคนเซ็นเอกสารนั้น เรื่องนี้นายไชยาก็ต้องชี้แจงว่า จาก 4 แสนบาท เป็น 4 ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นซึ่งถ้ายังคงถือหุ้นอยู่ ไม่ได้ฝากโอนหุ้น เป็นเรื่องที่เราต้องแสวงหาข้อเท็จจริง โดยกกต. ต้องหาข้อเท็จจริงว่า นายไชยาได้โอนหุ้นตามเงื่อนไขในพ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนหรือไม่ ซึ่งต้องแจ้งป.ป.ช.ใน 30 วัน   

นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า ส่วนการยื่นบัญชีของนายสุทิน ก็พบว่ามีการยื่นบัญชีที่แปลกเช่นกัน โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ก.ค. ซึ่งเป็นวันที่เข้ารับตำแหน่ง ยื่นว่าคู่สมรสมีเงินลงทุนในห้างหุ้นส่วนจำกัดคลังแสงอีสาน 1.5 ล้านบาท แล้วพบว่ามีเศษสตางค์ด้วย แต่เมื่อย้อนไปดูเมื่อเดือน 20 มี.ค. 2566 ก็พบว่า ลงไว้ 1 ล้านบาท แล้ว 5 แสนบาทนี้เพิ่มมาจากที่ไหน ซึ่งจากการตรวจสอบงบกำไร ขาดทุนปี 2565 พบว่า 1.5 ล้านบาท เป็นยอดรวมของหุ้นส่วนกับหนี้สินถือว่าผิด แต่ป.ป.ช.ตรวจสอบกลับไปเอะใจอะไร 

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูที่ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ภรรยานายสุทินถือว่าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  ยังถือหุ้นอยู่ ซึ่งต่างจากของนายไชยาที่เปลี่ยนไปเป็นชื่อของลูกสาวแล้ว แต่ของนายสุทินยังเป็นชื่อของภรรยา อยู่และถือในระยะเวลาเกิน 2 เดือน ถือว่าเกิน 30 วันตามกฎหมาย ดังนั้นเป็นเหตุให้มีการตรวจสอบโดยเร็วว่า ณ วันที่ 3 พ.ย. 2566 นายสุทิน ในฐานะรมว.กลาโหม ยังคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด คลังแสงอีสาน 1 ล้านบาท ในนามคู่สมรส เกิน 5% หรือไม่ ซึ่งหากพบว่า ยังมีการคงไว้ จะเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสุทิน สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่  

“ขอให้กกต. นำพ.ร.บ.ห้างจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาประกอบการพิจารณาด้วย หาก กกต. เห็นว่า รัฐมนตรีทั้ง 2 คน มีเหตุเข้าข่ายจะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ขอให้รีบส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป และขอให้ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนด้วย” นายเรืองไกร กล่าว และว่า นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมข้อมูลของผู้มีตำแหน่งทางการเมืองอีกจำนวนมากที่พบว่ามีข้อน่าสังเกต ซึ่งหลังจากนี้จะมีการยื่นให้ตรวสอบยกเข่ง 

อีกเรื่องขอติงผ่านสื่อถึงการทำงานของป.ป.ช.ด้วยว่า ในการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินต่างๆ ซึ่งจ้างงานผู้รับเหมานั้น กลับพบว่าการทำงานไม่มีประสิทธิภาพ เพราะเอกสารที่สแกนเพื่อเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของป.ป.ช. กลับหัวกลับหาง ไม่ครบถ้วน ถ่ายเอียงไปเอียงมา แสดงว่าคุณภาพการจ้างงานใช้ไม่ได้ จึงฝากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าไปตรวจสอบเรื่องการใช้งบประมาณในการจ้างงานของป.ป.ช.ด้วย