posttoday

จับตาวาระครม.'ทักษิณ'จ่อรับอานิสงส์ กม.พักโทษ -อภัยโทษเป็นการทั่วไป

10 ตุลาคม 2566

'ภูมิธรรม เวชยชัย' รักษาการนายกฯ ทำหน้าที่ประธานประชุมครม.ช่วงเวลานายกฯเศรษฐาเยือนต่างประเทศ 'ทักษิณ ชินวัตร' ลุ้นครม.ออกกม.พักโทษและอภัยโทษเป็นการทั่วไป

จับตาการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีคนที่1 เป็นประธานการประชุม ในห้วงเวลาที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลังเดินทางไปเยือนประเทศเพื่อนบ้านระหว่างวันที่ 8-12ตุลาคม2566 

การประชุมคณะรัฐมนตรี มีวาระครม.ที่น่าสนใจคือ การพิจารณาให้ความเห็นชอบ  ออกกฎหมายพักโทษและอภัยโทษเป็นการทั่วไป 

สำหรับการพักการลงโทษ หมายถึง การปลดปล่อยออกไปก่อนครบกำหนด ตามคำพิพากษาศาลภายใต้เงื่อนไขคุมประพฤติที่กำหนด อย่างไรก็ตาม การพักโทษมิใช่สิทธิของผู้ต้องขัง แต่เป็นประโยชน์ที่่ทางราชการให้แก่นักโทษเด็ดขาด ที่มีความประพฤติดี มีความก้าวหน้าทางการศึกษา ทำงานเกิดผลดีแก่เรือนจำ หรือทำความดีความชอบแก่ทางราชการเป็นพิเศษ

สำหรับคุณสมบัตินักโทษที่จะได้รับการปล่อยตัว จากการพักการลงโทษ มีดังนี้ 
  
เป็นนักโทษเด็ดขาด 

  • ชั้นเยี่ยม >> เหลือโทษจำคุกไม่เกิน1ใน3 
  • ชั้นดีมาก >> เหลือโทษจำคุกไม่เกิน1ใน4 
  • ชั้นดี >> เหลือโทษจำคุกไม่เกิน1ใน5 

สำหรับวาระพิจารณาเรื่องการพักโทษและอภัยโทษที่จะเข้าสู่การประชุมครม.นี้ มีคำถามว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้พักรักษาตัวอยู่รพ.ตำรวจ ซึ่งศาลฎีกาพิพากษา 3คดี จำคุก8ปี เมื่อ22ส.ค.2566 ต่อมารับพระราชทานอภัยลดโทษเหลือ1ปีจะได้รับอานิสงส์จากการออกกฎหมายพักโทษและอภัยโทษเป็นการทั่วไปด้วยหรือไม่  

ก่อนนี้มีข้อวิจารณ์ว่า มีความเป็นไปได้ที่นายทักษิณจะได้เข้าสู่กระบวน'การพักโทษกรณีมีเหตุพิเศษ' เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุ70ปีขึ้นไป ภายใต้หลักเกณฑ์ว่า เป็นนักโทษเด็ดขาด ต้องโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า1ใน3 คือจำคุก3เดือน ซึ่งจะครบกำหนดเข้าหลักเกณฑ์การขอพักโทษวันที่ 22 ธ.ค.2566

นอกจากขอพักการลงโทษได้แล้ว นายทักษิณ อาจพ้นโทษและได้รับการปล่อยตัวทันที หาก มีพ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป ในช่วงของวาระสำคัญต่อจากนี้ด้วย 

ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ชี้ว่ามีคนจำนวนมากตั้งคำถามและไม่เห็นด้วยกับกรณีนายทักษิณ โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน เพียงแต่ว่ามีการแสดงออกมาน้อยต่างกันไป

พร้อมเสนอแนะว่ารัฐบาลและพรรคการเมืองในสภา ควรเร่งผลักดันให้มีการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ตามที่นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยื่นต่อประธานรัฐสภาเมื่อช่วงสัปดาห์ก่อน ซึ่งหากทำได้ดังนี้ จะเป็นก้าวแรกของการสร้างความสมานฉันท์และความปรองดองอย่างแท้จริงมากกว่า.