posttoday

แนะ ตัดมาตรฐานจริยธรรมออกจากรธน. ค้าน บังคับใช้ย้อนหลัง เล่นงานนักการเมือง

22 กันยายน 2566

ปิยบุตร ป้องพรรณิการ์ หลังโดนศาลฎีกา ตัดสิทธิ์การเมืองตลอดชีวิต ย้ำ เท่ากับประหารชีวิตการเมือง ไม่เห็นด้วย เอามาตรฐานจริยธรรมมาบังคับใช้ย้อนหลัง จวก ความบิดเบี้ยว แนะ ตัดมาตรฐานจริยธรรมออกจากรัฐธรรมนูญ ไม่เห็นด้วย กระบวนการตัดสิน ให้ศาลมาเกี่ยวข้อง

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณี นางสาวพรรณิการ์ วานิช อดีตสส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ถูกศาลฎีกาพิพากษาตัดสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิตว่า ขอวิพากษ์วิจารณ์ 5 ประเด็น และส่งผลต่อเนื่องของคำพิพากษาในทางการเมืองและกฎหมาย 2 ข้อ รวมถึงข้อเสนอแนะ

ประเด็นที่ 1 มาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่สมควรให้ศาลหรือองค์กรตุลาการเข้ามาวินิจฉัยชี้ขาด เวลาพูดถึงมาตรฐานจริยธรรมปกติแล้วทุกองค์กรจะมีมาตรฐานอยู่แล้ว หลักใหญ่ใจความจะต้องให้องค์กรนั้นๆ เป็นคนกำหนดกันเอง แล้วเมื่อกำหนดกันเองแล้ว ก็จะตามมาด้วยมาตรการบังคับ มาตรการลงโทษ ในกรณีที่ฝ่าฝืน หมายความถึงการให้คนในองค์กรช่วยกันออกแบบ เช่น มีคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง มีคณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยและลงโทษในองค์กรของตนเอง

ปัญหาความซับซ้อนเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ยกร่างโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ และคณะ ถูกยกเป็นฉบับปราบโกง มียาแรงลงโทษนักการเมือง มีการตั้งโทษเอาไว้สูงให้น่ากลัวเกินกว่าที่คนปกติจะได้รับกัน จึงเป็นที่มาและเอามาตรฐานทางจริยธรรมมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญไม่พอ ยังเขียนให้ศาลองค์กรอิสระต่างๆ มานั่งประชุมร่วมกันและกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นมา หลังจากนั้นก็ไปเขียนเพิ่มครับว่ามาตรฐานจริยธรรมแบบนี้ให้เอามาใช้กับ สส. สว.ด้วย เมื่อเอาศาล เอาตุลาการมา มันก็เลยยุ่งไปเลย คำว่าจริยธรรมมันกว้างขวางเหลือเกิน หลายเรื่องไม่ได้ประเด็นความผิดทางกฎหมายที่จะมาชี้ถูกชี้ผิดโดยองค์กรตุลาการ เชื่อว่า ตุลาการศาลไม่อยากทำหน้าที่ตัดสิน แต่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ดังนั้น รอบนี้จึงเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญที่ผิดฝาผิดตัว 

ประเด็นที่ 2 เรื่องอัตราโทษในกรณีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงสูงมาก ไม่ได้สัดส่วนเมื่อเทียบกับการกระทำความผิดที่เกิดขึ้น รัฐธรรมนูญมาตรา235 วรรค 3 และ 4 มีบทลงโทษ 2 ฐาน คือเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งตลอดไปและเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี ตนย้ำว่า สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในระบบประชาธิปไตย

การเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดไป ถือเป็นการประหารชีวิตนักการเมือง โลกสมัยใหม่คุณประหารชีวิตแบบนี้ไม่ได้ โทษของนักการเมืองคือพ้นออกไปจากตำแหน่งก็ถือว่าเป็นยาแรงแล้ว แต่ก็มีของแถมอีกว่าห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง จนตอนนี้มีคนจำนวนมากที่เขาได้รับโทษจากการกระทำของเขาไปแล้ว แต่เขาต้องรับโทษเบิ้ลอีกทีหนึ่ง คือห้ามลงเล่นการเมืองตลอดชีวิต 

ประเด็นที่ 3 มาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงบังคับใช้ย้อนหลัง ซึ่งมาตรฐานฉบับนี้บังคับใช้เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2561 กรณีนางสาวพรรณิการ์ ถูกร้องเรียน 6 กรณี ที่โพสต์ภาพลงเฟซบุ๊ก เกิดขึ้นในปี 2553-2558 ก่อนที่มาตรฐานจริยธรรมฉบับนี้จะใช้บังคับ หลักกฏหมายห้ามนำมาบังคับใช้ย้อนหลัง โดยเฉพาะกฏหมายที่มีผลกระทบกระเทือนเป็นการลงโทษบุคคลจำกัดสิทธิ์บุคคลอย่างรุนแรง

ประเด็นที่ 4 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกว่า 10 ปีที่แล้ว ตอนนั้นนางสาวพรรณิการ์ ยังไม่ได้เข้าสู่วงการการเมือง เมื่อนางสาวพรรณิการ์ถูกพิพากษาให้พ้นจากการเป็นสส. ไปแล้วนั้น เรื่องของจริยธรรมยังคงตามไปหลอกหลอนกับตัวนางสาวพรรณิการ์อีก เหมือนกรณี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ก็ถูกถอดถอนซ้ำซาก

ประเด็นสุดท้าย การกระทำของนางสาวพรรณิการ์ เป็นประเด็นที่ฝ่าฝืนจริยธรรมจริงหรือ ในคำพิพากษากล่าวจำเพาะว่า มีการพาดพิงถึงสถาบัน แน่นอนเราต้องยืนจากหลัก ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อให้คุณเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตามแต่เป็นคนละเรื่องกับการไม่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ รูปภาพ 6 รูปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว แสดงว่าเขาไม่รักษาสถาบันหรือ 

นายปิยบุตรกล่าวว่า สำหรับ 2 ผลสืบเนื่องหลังคำพิพากษาของนางสาวพรรณิการ์ 1.หลังจากนี้หากใครจะมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องระวังอย่างยิ่ง เพราะอาจโดนขุดดิจิทัลฟุตพริ้นท์ เอามาร้องเรียนทำให้สามารถถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตได้

2.ต่อไปนี้มาตรฐานจริยธรรมจะกลายเป็นอาวุธหนักจัดการนักการเมือง ที่มีผลร้ายแรงถึงขั้นถูกตัดสิทธิตลอดชีวิตเช่นกัน เหมือนทำให้นักการเมืองต้องสยบยอม 

นายปิยบุตรยังกล่าวถึงข้อเสนอแนะอีก2ข้อว่า ควรนำเรื่องมาตรฐานจริยธรรมออกจากตัวรัฐธรรมนูญ ให้องค์กรต่างๆ จัดการกันเองภายในองค์กร ให้เขาลงโทษกันเอง กระบวนการศาลไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้อง ควรยกเลิกโทษเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต รวมถึงการตัดสิทธิเลือกตั้งก็ไม่ควรมี อีกทั้งแก้ไขมาตรา 98 ในเรื่องลักษณะต้องห้าม สส. ที่ได้รับโทษหนักไปแล้ว ต้องมาถูกสั่งห้ามลงเล่นการเมืองอีก มันต้องแยกออกจากกัน