posttoday

ศาลฎีกาฯนักการเมืองยกฟ้องจารุพงศ์อดีตมท.1ร่วมเวทีนปช.โคราช

12 กรกฎาคม 2566

ศาลฎีกาฯนักการเมือง องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ พิพากษายืนยกฟ้อง "จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ" อดีต มท.1 ไม่ผิดต่อตำแหน่งหน้าที่กรณีร่วมชุมนุมปราศรัยรับข้อเสนอเสื้อเเดงโคราชในสถานที่ปิด เป็นการชุมนุมโดยสงบและเข้าร่วมในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง องค์คณะชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ ศาลอ่านคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ หมายเลขดำอม.อธ. 8/2565  ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้องนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ กรณีที่จำเลยรักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รับรายงานสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่อาคารลิปตพัลลภฮอลล์ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดนครราชสีมา แต่จําเลยไม่ได้มีข้อสั่งการอย่างไร จำเลยกลับเดินทางไปกล่าวปราศรัยยอมรับข้อเสนอที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ สรุปให้ฟังเป็นเหตุให้มีกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางเข้ามาชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปิดล้อมสำนักงาน ป.ป.ช. นำป้ายผ้าไวนิลที่ปรากฏข้อความในลักษณะแบ่งแยกประเทศไปติดตามท้องที่ต่างๆ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 116(2) (3) พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 132 ประกอบมาตรา 30 และ 192 

  
คดีนี้ศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำเเหน่ง ทางการเมืองพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 2 ก.ย.2565 วันนี้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ทนายจำเลยเดินทางมาศาล จำเลยทราบนัดโดยชอบเเล้วไม่เดินทางมาศาลให้อ่านลับหลังจำเลย

โดยองค์คณะวินิจฉัยชั้นอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมพิจารณาคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและคำร้องขออุทธรณ์ของป.ป.ช.แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้ตำแหน่งกระทำการที่ไม่ชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาความสงบ แต่ก็ต้องดูว่าจำเลยมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติแต่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น เห็นว่า มีการรายงานเหตุการณ์ จากนายธงชัย (ไม่ทราบนามสกุล) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความสงบในจังหวัดนครราชสีมา มีการบันทึกนำเสนอรายงานเหตุการณ์การชุมนุมของนปช.ให้จำเลยทราบ และมีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจสั่งการให้พนักงานตำรวจเข้ารักษาความสงบเรียบร้อยและได้มีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความสงบเรียบร้อยเเล้ว ซึ่งมีการสั่งการเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการแล้ว โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากตัวจำเลย

นอกจากนี้ได้ความปรากฏว่าในการชุมนุมของนปช. ซึ่งเป็นสถานที่ปิดไม่ปรากฏว่าการชุมสร้างความเดือดร้อนหรือก่อให้เกิดความไม่สงบ แต่การการชุมนุมดังกล่าวกลับเป็นการชุมนุมโดยสงบเรียบร้อย ตามสิทธิและเสรีภาพ จึงไม่มีเหตุที่ตำรวจจะเข้าไปขวางการชุมนุม

ส่วนที่จำเลยขึ้นปราศรัยมีข้อความยอมรับข้อเสนอของกลุ่มนปช. และโจมตีการชุมนุมของกปปส. องค์คณะชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นว่า สถานการณ์บ้านเมืองขณะนั้นมีการชุมนุมแตกแยกกันเป็น 2 ฝ่าย มีทั้งกลุ่มนปช.และกปปส. ซึ่งนอกจากจำเลยจะมีตำแหน่งเป็นรวต.กระทรวงมหาดไทยแล้ว จำเลยยังเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคที่จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับกลุ่ม กปปส. และการมาชุมนุมและปราศรัยของจำเลยเป็นช่วงเวลาเลิกงานจึงเป็นการชุมนุมในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งไม่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ที่จำเลยมี อีกทั้งเมื่อพิจารณาถ้อยคำปราศรัยของจำเลย จำเลยไม่ได้กล่าวยั่วยุ ปลุกระดมแต่ที่จำเลยปราศรัยมีเนื้อหาลักษณะดังกล่าวมาจากความโกรธกลุ่มกปปส. ซึ่งจำเลยเชื่อว่าไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ที่โจกท์อุทธรณ์มานั้น องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิพากษาฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่มีการฟ้องว่าจำเลยในฐานะรักษาการรมต.มหาดไทยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เห็นว่า พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มิได้ให้อำนาจ ป.ป.ช. ในการไต่สวนข้อหาความผิดตามมาตรา 116 ซึ่งข้อกล่าวหานี้พนักงานอัยการเคยมีคำสั่ง ไม่ฟ้องเด็ดขาด ซึ่งกฎหมายห้ามมิให้มีการดำเนินคดีในข้อหาที่มีการฟ้องไปแล้ว พิพากษายืนยกฟ้อง