posttoday

ประยุทธ์วางมือ สุดารัตน์ลาออกส.ส. จับตา เกมพลิกขั้ว สะเทือน ก้าวไกล ?

11 กรกฎาคม 2566

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ วางมือทางการเมือง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ลาออก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ด้านหนึ่ง ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในพรรค อีกด้านทำให้อดคิดไม่ได้ ส่งผลถึงกลเกม เกิดการพลิกขั้วทางการเมือง อีกรอบหรือไม่

ช่วงเย็นวันที่ 11ก.ค. สองบุคคลสำคัญทางการเมือง ลาออกจากสมาชิกพรรค และลาออกจากความเป็นส.ส.  โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และกำหนดแนวทางของพรรค เผยแพร่ความในใจ ผ่านเฟซบุ๊ค พรรครวมไทยสร้างชาติ United Thai Nation Party ตอนหนึ่งว่า

"จากนี้ไป ผมขอประกาศวางมือทางการเมือง ด้วยการลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ และขอให้หัวหน้าพรรค กรรมการบริหาร และสมาชิกพรรคได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองด้วยอุดมการณ์ที่แข็งแกร่ง ปกป้องรักษาสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และดูแลพี่น้องประชาชนชาวไทยต่อไป และขอให้พี่น้องประชาชนให้ความไว้วางใจสนับสนุนการทำงานของพรรครวมไทยสร้างชาติต่อไปด้วย"

 

คล้อยหลังไม่นาน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว บางช่วงบางตอนว่า

"ดิฉันได้แจ้งลาออกจากการเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคไทยสร้างไทยแล้ว ตามที่ได้ประกาศในวันที่เข้าสภาครั้งเเรก และจะเลื่อนลำดับผู้สมัครของพรรคท่านถัดๆ ไป ขึ้นมาแทนตามลำดับ เพื่อให้มีโอกาสทำงาน แก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน

การตัดสินใจในครั้งนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ ที่ดิฉันที่ได้ประกาศไปตั้งแต่เมื่อก่อตั้งพรรคในวันแรกนั่นคือ ขอเป็น เสาเข็ม ลงหลักปักฐานตั้งพรรคให้สำเร็จ และเป็น สะพาน เชื่อมโยงคนทุกวัยเข้ามาทำงานเพื่อบ้านเมือง ทำให้พรรคไทยสร้างไทยเป็นสถาบันทางการเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง" 

การตัดสินใจลาออกของ 2 บุคคลากรทางการเมือง กับการตัดสินใจครั้งสำคัญ ทำให้เกิด การตั้งคำถาม ตามมาในหงายแง่ หลายมุม

-เกิดปัญหาความขัดแย้งในพรรค จุดยืน แนวทางทางอุดมการณ์อะไรบางอย่างไม่ตรงกันหรือไม่


 -หรือเป็นเพียง การขยับ ให้เกิดความคล่องตัว เพื่อนำไปสู่ ตำแหน่งอะไรที่ใหญ่กว่าหรือไม่


-เรื่องนี้จะส่งผล เกี่ยวพันไปถึง การโหวตนายกรัฐมนตรี คนที่30 วันที่ 13ก.ค. การโหวตรอบแรก หากชื่อที่ได้รับการเสนอจาก พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้ไม่ถึง 376เสียง


-การโหวตนายกรัฐมนตรี ครั้งที่สอง วันที่ 19ก.ค. หรือในครั้งต่อๆไป การเปลี่ยนตัว การเสนอชื่อแข่ง จะเกิดขึ้นหรือไม่ และหากยังไม่ผ่านอีก จะเป็นอย่างไร


-การจับมือ ลงนามใน MOU 8 พรรคการเมืองที่มีความพยายามตั้งรัฐบาลร่วมกัน จะแปรผัน ส่งผลอะไร อีกหรือไม่ โดยมีตัวแปรสำคัญ สมาชิกวุฒิสภา(สว.) ที่ต้องลงคะแนนเสียง และ คดีค้างคาของ พิธา พรรคก้าวไกล ด้วยข้อหาร้ายแรง ยังเป็นชนักติดหลัง 

-พรรคก้าวไกล ด้วยนโยบาย จุดยืนทางการเมืองอันแข็งกร้าว ที่ละเอียดอ่อน ทำให้กระแสข่าวการผลักไปเป็นฝ่ายค้าน ยังคงดังขึ้นเป็นระยะๆ   


- พรรคก้าวไกล จากผู้ใกล้(จะ)สมหวัง กลายเป็น ผู้ถูกเลือกให้ผิดหวัง กองเชียร์ ผู้สนับสนุน ปฏิกิริยา อารมณ์ การแสดงออก จะเป็นเช่นไร หากเกิดจุดพลิกผัน ทางการเมืองอีกรอบ

-หมากเกม กระดานการเมือง พรรคจากขั้วรัฐบาลเดิม ในวันที่ 2จาก3 ลุง ยอมถอยออกจาก การเมืองไปแล้ว จะส่งผลอะไรไปถึงอีก 1 ลุงที่ยังมีตำแหน่งหรือไม่   

ในวันที่ บุคคลที่ถือเป็น สัญลักษณ์ทางการเมืองอยู่คู่กับพรรครวมไทยสร้างไทย พรรคไทยสร้างไทย ที่เคยประกาศ จุดยืนอย่างแน่แน่ว แข็งกร้าวทางการเมือง ไม่อยู่ จะทำให้เกิด การพลิกขั้ว เกิดสมการการเมืองอะไรใหม่ๆอีกหรือไม่ ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องเกาะติด เกมกระดานการเมืองกันอย่างใกล้ชิดต่อไป