posttoday

เทียบบัญชีผู้ถือหุ้นไอทีวี พิธา ผู้จัดการมรดก หรือ ถือเอง

14 มิถุนายน 2566

เปิด บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นไอทีวี เทียบชัดๆ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือหุ้นไอทีวี ก่อนโอนให้น้องชาย เมื่อวันที่ 25 พ.ค.66 ว่าถือในฐานะผู้จัดการมรดก เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรกับผู้ถือหุ้นรายอื่น

การถือหุ้นไอทีวี ของนาย พิธา  ลิ้มเจริญรัตน์ ยังเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังมีการเผยแพร่คลิปการประชุมผู้ถือหุ้น ผ่านรายการข่าว 3 มิติ เพื่อโต้แย้งหลักฐานเอกสารรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ปี 66 ว่าเนื้อหาไม่ตรงกัน จนนำไปสู่การแถลงข่าวของ นายชัยธวัช ตุลาธนเลขาธิการพรรคก้าวไกล ว่า มีกระบวนการปลุกผีไอทีวีขึ้นมาเพื่อเล่นงาน นายพิธา  ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 

ทั้งนี้โดยรวม การออกมาตอบโต้พยายามตอกย้ำประเด็นว่าไอทีวีหมดสภาพความเป็นสื่อไปแล้ว  ซึ่งในข้อเท็จจริง และ ในทางกฎหมาย ประเด็นดังกล่าวถือว่าเป็นหัวใจสำคัญประเด็นหนึ่ง ที่จะวินิจฉัยว่า นายพิธาเข้าข่ายผิดมาตรา 151 ตามที่ กกต.สั่งให้ดำเนินการไต่สวน เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และรู้อยู่แล้ว ว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามแต่ได้สมัครรับเลือกตั้ง อันเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 42(3) และมาตรา 151 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หรือไม่ 

นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่ นักกฎหมายออกมาวิเคราะห์ประเด็นปัญหาการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็คือ การถือหุ้นไอทีวีจำนวน 42,000 หุ้น ที่นายพิธาพยายามอธิบายมาโดยตลอดว่า เป็นหุ้นที่ได้มาจากมรดก และถือแทนในฐานะผู้จัดการมรดก และในการถือหุ้นร้อนไอทีวี หลังเป็นประเด็นขึ้นมา นายพิธาได้มีการโอนหุ้นจำนวนดังกล่าวไปให้ทายาทคนอื่นแล้ว และต่อมา ได้ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ในฐานะผู้ร้องได้ เปิดหลักฐานการโอนหุ้นจำนวนดังกล่าว เกิดขึ้น เมื่อ วันที่ 25 พ.ค.2566 ที่ผ่านมานี้เอง 


เทียบบัญชีผู้ถือหุ้นไอทีวี พิธา ผู้จัดการมรดก หรือ ถือเอง

ในประเด็นนี้ นักกฎหมายอย่างเช่นนายชูชาติ ศรีแสงอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลฎีกา ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Chuchart Srisaeng เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.66 ที่ผ่านมาในประเด็นดังกล่าวว่า "การโอนหุ้นที่นายพิธาโอนให้นายภาษิณ ถ้านายพิธาโอนในฐานะผู้จัดการมรดก ต้องระบุไว้ในหลักฐานการโอนว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ผู้โอน นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้รับโอน แต่ตามหลักฐานที่นายเรืองไกรนำมาเปิดเผยระบุเพียงว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้โอน/ฝาก นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้รับโอน/ฝาก เท่านั้น เมื่อหลักฐานเป็นเช่นนี้จึงต้องฟังว่า หุ้นดังกล่าวเป็นของนายพิธา ไม่ใช่เป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง"
 

จากการตรวจสอบของ Post today พบว่า ในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวี ณ วันที่ 26 /04/66 มีรายการของบัญชีผู้ถือหุ้นรายหนึ่ง ระบุดังนี้ ลำดับที่ 9261 นายโกมล วัชระเกรียงไกร และ นายอรรถพล วัชระเกรียงไกร ในฐานะผู้จัดการ จำนวน 10,000 หุ้น ต่างกับของ นายพิธา ที่ การถือหุ้นใน ไอทีวี ตั้งแต่ปี 2551 จนถึง ปี 2566 ก่อนจะโอนไป ได้ระบุว่า นายพิธา  ลิ้มเจริญรัตน์ จำนวน 42,000 หุ้น 

เทียบบัญชีผู้ถือหุ้นไอทีวี พิธา ผู้จัดการมรดก หรือ ถือเอง

นอกจากนี้ ในเอกสารการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น ของ MK ที่แจ้งต่อกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อ 28 ก.ย. 2563 มีรายการที่น่าสนใจคือ ลำดับที่ 2 นานางยุพิน ธีระโกเมน ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสมนึก หาญจิตต์เกษม จำนวน 164,087,977 หุ้น

เทียบบัญชีผู้ถือหุ้นไอทีวี พิธา ผู้จัดการมรดก หรือ ถือเอง

จากเอกสารจะเห็นความแตกต่างกันชัดเจน ซึ่งในการต่อสู้ข้อกล่าวหาหลังจากนี้ จะเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณาจนไปสู่ข้อสรุปใดหรือไม่ ยังมีเวลาให้ติดตามอีกนาน และยังต้องติดตามกันต่อไป