posttoday

'เรืองไกร'ร้องกกต.สอบ MOU ตั้งรัฐบาลเข้าข่ายขัดพ.ร.ป.พรรคการเมือง

24 พฤษภาคม 2566

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อพลังประชารัฐ ร้องกกต.ตรวจสอบ MOU ตั้งรัฐบาลก้าวไกล เข้าข่ายผิดพ.ร.ป.พรรคการเมือง ครอบงำกิจกรรมทางการเมือง นำไปสู่การยุบทั้ง8พรรคที่ร่วมลงนามหรือไม่

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค พลังประชารัฐ (พปชร.) เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อกกต. เพื่อขอให้ตรวจสอบพรรคก้าวไกลรวมถึงพรรคการเมืองอีก 7 พรรค ที่ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งอาจเข้าข่ายกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองโดยแต่ละข้อที่มีการลงนามบันทึกข้อตกลง มีประเด็นที่น่าสงสัยตรงคำว่า “บันทึกข้อตกลงร่วม” ไม่ตรงกับคำว่า“บันทึกความเข้าใจร่วมกัน” ในการจัดตั้งรัฐบาล และคำว่าผู้แทนราษฎรที่ถูกควรเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 

นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญมีการบัญญัติว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ย่อมเป็นแทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัด หรือการครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์  ที่สำคัญคือห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอม หรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่น ซึ่งมิใช่สมาชิกพรรคครอบงำ หรือชี้นำ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม 
 

จากการตรวจสอบเบื้องต้น โดยเฉพาะข้อบังคับพรรคก้าวไกล เมื่อปี 2563 ไม่พบการกำหนดที่เกี่ยวกับการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล อีกทั้งในเรื่องของอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าพรรคได้มีข้อกำหนดไว้ชัดเจน จึงเห็นได้ว่าพรรคการเมืองทั้ง 8 พรรค ที่ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาลอาจขัดต่อข้อบังคับของพรรคก้าวไกล เนื่องจากไม่พบรายละเอียดการกำหนดที่เกี่ยวกับการลงนามดังกล่าว และยังอาจทำให้บุคคลอื่นเข้าใจได้ว่าแต่ละพรรคการเมืองต่างฝ่ายต่างยินยอมให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่เป็นบุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้ขาดความอิสระไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม จึงมีเหตุอันควรให้ กกต.ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว

เมื่อถามว่าการยื่นเรื่องร้องเรียนในครั้งนี้จะนำไปสู่การพิจารณายุบพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่า ไม่ใช่เฉพาะพรรคก้าวไกล แต่ยุบทั้ง 8 พรรค เพราะต่างฝ่ายต่างยอมรับเงื่อนไข ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคซึ่งกันและกันเข้ามาครอบงำ โดยเอกสารที่เซ็นต์ทั้ง 8 รายชื่อลงนามโดยหัวหน้าพรรคทั้งหมด เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องการขาดคุณสมบัติเฉพาะตัว แต่เป็นเรื่องพรรคการเมืองฝ่าฝืนมาตรา 28 หรือไม่ แล้วจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 92 (3) ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคหรือไม่ ซึ่งตนมีข้อเท็จจริง และกฎหมายอ้างอิงให้มาตรวจสอบ ส่วนรายละเอียดในข้อตกลงเอ็มโอยูบางประเด็นที่บางพรรคการเมืองไม่ได้ปฏิบัติตาม จะร้องแค่พรรคก้าวไกลอย่างเดียวไม่ได้ เพราะทั้ง 8 พรรคร่วมกระทำ 

เมื่อถามอีกว่าคิดว่าการร้องในครั้งนี้จะเป็นเงื่อนไขให้สมาชิกวุฒิสภาไม่ตัดสินใจโหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่า ไม่เกี่ยวที่จะเป็นเหตุให้ส.ว.โหวตหรือไม่ให้นายพิธา

เมื่อถามเพิ่มเติมว่าการร้องเรียนกรณีนายพิธา มีเจตนาเพื่อหวังผลทางการเมืองหรือไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่า มีเหตุตรวจสอบตนก็ยื่นร้อง ไม่มีเหตุแล้วมาปั้นพยานหลักฐานเท็จนั้นไม่ใช่ การออกมาทำหน้าที่ถึงทำในฐานะนอกสภาตนก็ทำมาตลอด 10 กว่าปี เรื่องร้องเรียนกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ตนร้องมากที่สุด ทั้งเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี การถวายสัตย์ฯ และเรื่องบ้านพัก รองลงมาคือการร้องพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยเฉพาะเรื่องนาฬิกายืมเพื่อน ซึ่งตนได้ร้องย้ำๆมาตลอด ถ้าวันนี้พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นรักษาการนายกฯ แล้วไปทำผิดตนก็ร้อง หรือว่านายวิษณุ เครืองาม ทำผิดตนก็ร้องถ้ามีเหตุต้องร้อง

อนึ่ง ระหว่างที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ แถลงข่าวหน้าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ปรากฎว่า นายวรัญชัย โชคชนะ นัดเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้เดินทางเข้ามาในวงแถลงข่าว พร้อมกับชูป้ายข้อความระบุว่า "ขอให้กำลังใจและสนับสนุนพิทาลิ้มเจริญรัตน์เป็นนายกรัฐมนตรี อย่าให้เหมือนสมัครทำกับข้าว" เพื่อเป็นการคัดค้านนายเรืองไกร 

ทั้งนี้นายวรัญชัย อยู่ในท่าทีที่สงบระหว่างการแถลงข่าว ซึ่งระหว่างที่นายเรืองไกรเดินไปยื่นหนังสือที่ช่องร้องเรียนของ กกต. นายวรัญชัยได้มีการตะโกนเป็นระยะๆว่า ไม่อยากให้เหมือนกับกรณีของอดีตนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งพ้นจากตำแหน่งจากกรณีจัดรายการชิมไปบ่นไปเมื่อปี 2551 โดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงแต่อย่างใด